พุทธวิธีในการเพิ่มบุญบารมีให้ตัวเอง

พุทธวิธีในการเพิ่มบุญบารมีให้ตัวเองบุญบารมีนั้น เป็นพลังที่มีอำนาจที่เกิดในทางที่ดีเท่านั้น ได้แก่ คุณธรรม จริยธรรม ที่ได้กระทำ หรือบำเพ็ญกันมาอย่างยาวนานมากพอ ซึ่งเราต้องทำของเราเอง ใครอยากได้ก็ต้องทำเอาบำเพ็ญเอา เช่น การที่เราก้มลงกราบพระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย นั้น ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ที่ได้เคารพนบนอบต่อ พระรัตนตรัย เคารพต่อในสิ่งที่ดี เป็นต้น

การที่เราได้มีโอกาสเกิดมา และ เติบโตขึ้น เป็นเพราะ ในตัวของแต่ละคนมีบุญบารมีอยู่ที่ช่วยเกื้อหนุนให้มีความสุขและดำรงตนอยู่ได้  ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และที่เราเป็นมนุษย์และยังมีความสุขน้อยอยู่ก็เพราะ มีบุญน้อย จิตหรือ กายทิพย์ยังไม่ผ่องใส จึงไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดสิ่งดี ๆอื่น ๆเข้ามาช่วยเสริมสร้างชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

การทำบุญ ทำความดี นั่นเอง จึงเป็น สิ่งที่เราต้องทำก่อน ที่เราจะเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เป็นสิริมงคล จึงจะมีพลังอำนาจมาคอยเกื้อหนุนเราให้เราประสบความสำเร็จและโชคดี ดังนั้นก่อนจะเข้าหาสิ่งที่เป็นสิริมงคลในชีวิต ขอให้เราสร้างคุณความดีให้มากพอ ดังวิธีการต่อไปนี้

 

1. ละความโกรธ

การที่เรามีความโกรธครอบงำในจิตใจ มันก็ทำให้จิตขุ่นมัวแล้ว ทีนี้ พอจะทำอะไรเราก็ไม่สามารถจะทำได้ดีกว่า ตอนที่จิตใจยังเป็นปกติ หรือ ตอนที่มีความสุข เราสามารถทำเรื่องเล็ก ๆให้เป็นเรื่องใหญ่ ได้ ทำให้เพื่อนกลายเป็นศัตรูได้ เมื่อโกรธขึ้นมาแล้ว แทนที่จะได้เจอเรื่องดี ๆ กลับกลายเป็นว่า แม้แต่เรื่องปกติ ก็ทำให้เราเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ดีได้

และความโกรธนี้เอง เป็นต้นเหตุให้เกิด กิเลสอย่างอื่น ๆขึ้นมาอีกได้แก่ ความอิจฉาริษยา คือ จะมองเห็นคนอื่นเป็นศัตรูไปเสียหมด เห็นใครทำอะไรได้ดี ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ร้อน กระวนกระวายไม่ต่างจากไฟเผาตัว

แล้วอย่างนี้ จะให้เกิดความเป็นสิริมงคลอย่างไรกับชีวิตได้

การฝึกให้ตนเป็นคนไม่โกรธ คือ พยายาม นิ่ง ไว้  เมื่อเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนอารมณ์จิตใจ พยายามหลับตา ปิดปากไว้ แล้วหนีไปให้ไกลจากสาเหตุที่ทำให้เกิดความโกรธ แล้วผ่อนคลายมันด้วยการนอนหรือ นั่งนิ่ง ๆ สักพักเสมือนเป็นการใช้เวลาเป็น น้ำ ที่คอยดับ โทสะ ในจิตใจให้ดับลง เมื่อทำได้บ่อย ๆแล้วก็ ขอให้ “ฝึกนั่งสมาธิ” ในจิตใจอยู่นิ่ง เมื่อจิตอยู่นิ่ง ๆ บ่อย ๆ เมื่อมีอะไรมาสั่นไหวก็จะไม่ไหวตามมันได้ง่าย ๆ เพราะ จิตได้รับการฝึกฝนมาดีแล้ว เหมือน เสาที่ถูกตอกลึกลงไปให้อยู่นิ่ง และคอยกล่าวเตือนสติตัวเองไว้เสมอว่า “ โกรธเป็นบาป ริษยาก็ เป็นความทุกข์ ไม่มีประโยชน์อันใดสักนิดที่เราจะโกรธ และมันช่วยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้”

 

2. ละความโลภ

ความโลภ ก็เป็นสิ่งบดบังจิตให้ไม่ผ่องใส เช่นเดียวกัน คือ มีความอยากอยู่ตลอดเวลา อยากได้ และ พอได้มาแล้ว ก็อยากได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องเหนื่อยต้องดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการไม่มีที่สิ้นสุด

ความโลภ ยังผลให้เกิด กิเลส ข้อหนึ่งตามมาคือ ความตระหนี่ คือ จะทำให้มีนิสัยมักเก็บทรัพย์สินเงินทองเอาไว้กับตัวมาก ๆ ไม่เลือกวิธี ขอให้ได้ทรัพย์สินนั้นมาแม้ต้องโกงต้องฆ่า ต้องทำลาย ก็ยอม ขอเพียงให้มีเงินมีทองร่ำรวยกว่าคนอื่น ๆ เท่านั้น

กิเลส ข้อที่ตามมาอีกอย่างคือ ทำให้ เรา กลายเป็นคนที่มี ความปรารถนาในสิ่งที่ชั่วช้าได้ง่าย คือเรียกได้ว่า มีจิตใจเป็น ลามก คือ ปรารถนาจะได้ลาภลอย ๆ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ปรารถนายศศักดิ์ที่เกินกำลังความสามารถ ปรารถนาให้ผู้อื่นไม่ได้ดีไปกว่า และ ปรารถนาที่จะทำชั่วเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

การละความโลภในจิตใจ ฝึกได้ชำระได้ ด้วยการ “ให้”  ในทางธรรม ก็หมายถึง การรู้จัก ให้ทานเมื่อรู้จักให้ทานบ่อย ๆ ก็จะทำให้ไม่รู้สึกเสียดาย เช่นการทำบุญด้วย วัตถุทาน อย่างการตักบาตร การถวายสังฆทาน จนพัฒนาไปเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้นอย่าง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ อย่าง ห้องน้ำ สาธารณะ สร้างศาลา ทำถนนหนทาง ไปจนถึงการ สร้าง ศาสนาสถาน อย่างโบสถ์ วัด วิหาร ให้เหล่า พระสงฆ์ใช้ประกอบศาสนกิจ

เมื่อฝึกการให้ทานทางวัตถุได้มากเข้าบ่อย ๆ ก็จะสามารถให้ ทานอีกอย่าง หนึ่ง คือ ทานทางจิตได้ ที่ เรียกว่า “อภัยทาน” คือ นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ยังมอบ การให้อภัย เป็นของตอบแทนเขาอีก เป็นการอโหสิกรรม คือ ไม่ให้ต้องมาเกี่ยวพันเป็นเวรกรรมกันอีกต่อไป ซึ่งใน ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ถือเป็น การบำเพ็ญทานบารมี ขั้นสูงสุด

 

3. ละความหลง

การละความหลง คือ การไม่หลบหลู่ และให้ความเคารพในสิ่งที่สมควร ความหลงนั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า เป็น อัตตา เป็นการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราเอง ว่า เรานี้ดี เก่งโดยไม่ได้ย้อนมองตัวเองว่า คนที่เก่งกว่า ดีกว่าเรา นั้นยังมีอยู่มากมาย

การที่เราเป็นคนหลงในตน ก็จะทำให้พึงมีนิสัย มักอวดไปด้วย มีทิฎฐิมานะสูง ชอบอวดทรัพย์สินมีค่า เครื่องแต่งกายเครื่องประดับไปจนถึง อวดในเรื่อง ความรู้ ภูมิรู้ที่มีอยู่ในตนจนบดบังปัญญาเสียสิ้น

คนที่ไม่สามารถละความหลงในตนได้ ก็จะไม่เจริญรุ่งเรื่อง หาสิ่งที่ดีใส่ตัวไม่ได้ ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะมักดูหมิ่นดูแคลนในความสามารถคนอื่น แม้จะมีความรู้แต่ก็ไม่อาจนำไปใช้อยู่ร่วมกันกับคนอื่น เพราะคิดว่ารู้มาก ( แต่ที่จริงแล้ว ก็รู้เท่าที่ตนเองรู้)ไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่สำเร็จสักอย่าง และร่วมงานกับใคร ๆก็ไม่ได้

บางคน ก็ หลง อยู่กับสิ่งอื่น ๆ เช่น หลงใหลในความสวยงามแห่งรูป เช่น ได้พบกับคนที่หน้าตาดี รูปร่างดีก็หลงละเมอ สูญเสียความเป็นตัวตนของตนเอง พยายามเอาชนะใจเขาหรือเธอและอยากได้มาครอบครอง จนทำให้หลงผิดทำได้ แม้แต่ทำความผิดเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง อย่างนี้ ก็เป็นความหลงเช่นกัน

ความหลงที่อันตรายร้ายแรงที่สุด คือ การ “หลงผิดในความคิด” คือ การเห็นผิดเป็นชอบ ดังที่ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎก ขุททุกนิกาย มหานิเทศ เล่มที่ 29 ข้อที่ 74 ความว่า

1. เห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

2. เห็นว่า ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล

3. เห็นว่า การเซ่นสรวง ไม่มีผล

4. เห็นว่า วิบากกรรมของกรรมดีและกรรมชั่ว ไม่มี

5. เห็นว่า โลกนี้ ไม่มี

6. เห็นว่า โลกหน้า ก็ไม่มี

7. เห็นว่า พระคุณมารดาไม่มี

8. เห็นว่า พระคุณ บิดา ไม่มี

9. เห็นว่า สัตว์เป็น โอปปาติกะ( สิ่งที่เกิดจากอากาศ และโตเต็มวัยทันที) ไม่มี

10. เห็นว่า สมณะ ผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยตนเอง และสอนผู้อื่นให้รู้ตามให้รู้แจ้งนั้น ไม่มีในโลก ( พระพุทธเจ้า)

เมื่อโกรธ ความโกรธจะทำให้ให้ไร้สติ ใบหน้าบูดบึ้งผิวพรรณไม่สวยงาม หยาบกร้านแข็งกระด้าง ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เมื่อริษยาผู้อื่น ความริษยาก็จะทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ซ้ำยังเป็นทุกข์หนักเพิ่มขึ้นอีกด้วย เมื่อเกิดความตระหนี่ ความตระหนี่จะบดบังปัญญา สมบัติที่หวังไว้ก็จะสูญหาย เมื่อมักอวด ก็จะมีแต่คนไม่อยากคบค้าสมาคม และไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ถูกต้องได้ตามความเป็นจริง เมื่อ มีจิตใจปรารถนาชั่วช้า ลามก การปรารถนานั้น

 

 ก็จะทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่ควรได้ เหลือแต่สิ่งที่ไม่ควรตกมาถึงมือเรา

และ สุดท้ายที่อันตรายที่สุด เมื่อหลงผิดเห็นผิดแล้ว ความเห็นผิดจะปิดกั้นเราจาก ทำนองคลองธรรมทั้งหมด ปิดกั้นความดีงาม ปิดกั้นทุกสิ่งที่ดี ๆไม่ให้เข้ามาในชีวิต แล้วทีนี้ ก็อย่าได้ถวิลหา ว่าอะไรจะเป็น สิริมงคลแก่เราเลย เพราะ ตัวเรา จิตของเรา ไม่เป็น กุศล เสียแล้ว แม้จะไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระ แค่ไหนก็ไม่บังเกิดผล ไหว้ก็จะไหว้แต่มือเท่านั้น ใจไม่ไหว้ด้วย

การแก้ ความหลงนั้น จึงเป็น เรื่องที่ ยากเย็นที่สุด สำหรับ คนเรา แม้แต่ในพระอริยสงฆ์ก็ยังตัดกิเลสที่ชื่อว่าความหลง ( โมหะ) ได้เป็นอย่างสุดท้ายกว่าจะบรรลุได้เป็นถึง พระอรหันต์ ซึ่งต้องอาศัยการบำเพ็ญบุญสูงสุด ด้วยการ การเจริญวิปัสสนา ให้เกิดปัญญา

การเจริญวิปัสสนาให้ได้ผล ก็ต่อเมื่อ เราได้ ฝึก สมาธิ เพื่อระงับกิเลสสองอย่างแรก คือความโกรธและความโลภ เมื่อจิตใจนิ่งสงบเป็นบาทฐานแล้ว จึงจะเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาได้

แต่ใช่ว่า เราต้องบวชเป็น พระสงฆ์ ถึงจะ ทำการเจริญ วิปัสสนา ความจริงแล้ว เราทุกคนก็สามารถทำได้เพียงแต่เราต้องฝึกเจริญให้บ่อย ๆ ทำมากๆ  ทำจนจิตใจนิ่งเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถหรือกิริยาอาการแบบไหนก็ตาม จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ ได้คิดพิจารณา ถึง ความเป็นจริงสี่ประการ ดังนี้

1. มีจิตใคร่ครวญถึง ความตายอยู่เสมอ  ( มรณัสสติกรรมฐาน) แก้ไข เรื่อง หลงในทรัพย์
คือให้ฝึก พิจารณาว่า ความตายนั้น ก็เป็นธรรมะอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะความตายได้ แม้แต่ พระบรมศาสดา อย่าง พระพุทธเจ้า ก็เช่นเดียวกัน  แม้พระองค์ทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่เป็นอมตะ แต่ ก็ต้องละทิ้ง พระสรีระร่างกายไว้ในโลก
การที่บางคน หลงหันไปยึดติดทรัพย์สินต่าง ๆ ชอบโอ้อวดคุยโว ในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ หน้าที่การงาน  ทั้งที่ เมื่อตาย ไปแล้ว ก็ไม่สามารถจะเอาอะไรไปด้วยได้ แม้เพียงสักอย่างเดียว การทำ มรณานุสสติกรรมฐาน นี้ จึงเป็นการเตือนสติให้เราตื่นขึ้น มีความเพียรขึ้นที่จะชำระจิตใจให้ใสสะอาด ก่อนที่ความตายจะมาถึง
คนที่ได้ทำกรรมฐานข้อนี้ อยู่เสมอจะเป็นคนฉลาดในการใช้ชีวิต  ไม่มัวเมาในทรัพย์และการใช้ชีวิต คือ มีทรัพย์พอแก่ตน เหลือแล้วจึงแบ่งปัน ทำทานให้คนอื่น พอได้คิดถึง ความตาย แล้ว ก็จะทำให้ตัวเขาได้ เร่งทำความดี ทำแต่บุญกุศล ไม่ ละโมบโลภมาก เกรงกลัวต่อบาปกรรม และที่สำคัญคือ ทำให้เขาผู้นั้นไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใด พอพิจารณาเรื่องนี้ไปนาน ๆ จิตใจก็จะสงบลง ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ง่ายขึ้น สบายและเบาขึ้น ไม่กลัวความตายจะมาเยือน
ตัวอย่างที่ดีที่สุด ในเรื่องการพิจารณา ความตาย นั้น ก็มาจาก พระโอวาทของ พระพุทธเจ้าเอง ตอนที่ พระองค์ทรงปลงสังขารซึ่งทำให้พระอานนท์โศกเศร้าเสียใจมาก เพราะ ความรักนับถือใกล้ชิดพระพุทธองค์มาช้านาน พระองค์จึงตรัสสอนพระอานนท์ พร้อมกับหมู่พระภิกษุทั้งหลายว่า
 
“ ดูก่อน อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือ ว่าสัตว์ทั้งหลายจะต้องพลัดพรากจากของที่ตนรักและของที่ชอบใจทั้งสิ้น  สัตว์จะได้ตามความปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนกันเล่า  การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่า อย่าฉิบหายเลย ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้เป็นได้อีก การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นาน ถัดจากนี้ไปอีก 3 เดือน เราจักนิพพานอย่างแน่นอน”
และในวันสุดท้ายก่อนถึง มหาปรินิพพาน ก็ทรงประทานโอวาท ที่ยังเป็นอมตะ มาจนถึงทุกวันนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลาย ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นของธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์แห่งตนและประโยชน์ท่านให้ ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
2. มีจิตใคร่ครวญพิจารณา ถึง ว่า ร่างกายของคนเรา เป็นสิ่ง ไม่สวยงาม (อสุภกรรมฐาน) แก้ไขความหลงใหลในรูปกายผู้อื่น
การพิจารณาในข้อนี้ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และเป็นความจริงอย่างที่สุด คำว่า อสุภ นั้นแปลว่า สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือ ร่างกายของคนเรานั้นที่สวยงาม เป็นที่รักใคร่เสน่หาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ร่างกายของตัวเอง หรือ ร่างกายของผู้อื่น นั้น ก็ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ตลอดไป  เวลาจะคอยพรากความสวยงามต่าง ๆไป จนเข้าสู่วัยชรา ถึงตอนนั้นแล้ว รับรองว่า จะหาความสวยงามใด ๆไม่ได้อีกเลย
เมื่อ คิดพิจารณาว่า ร่างกายที่สวย ๆงาม ๆ เดี๋ยวร่างกายของเขาหรือเธอที่น่าหลงใหลเดี๋ยวก็แก่ก็เหี่ยวและสิ้นไปเป็นของธรรมดาอย่างนี้ จะทำให้ เราไม่หลงยึดติดกับ คน ไม่คิดจะผิดศีล โดยเฉพาะ ข้อ 3 อันเป็นปัญหาใหญ่ ในสังคมปัจจุบันที่มีการผิดประเวณีสูง หาความสุขไม่ได้
3. มีจิตใจใคร่ครวญถึง สภาพร่างกายของตนว่าเป็นของโสโครก (กายคตานุสสติกรรมฐาน) แก้ไข ความหลงในความสวยงามในตนเอง
การพิจารณาในข้อนี้ มักจะใช้พิจารณาร่วมกับ อสุภกรรมฐาน แต่เป็นการพิจารณาร่างกายของตนเองให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริง  การฝึกพิจารณานั้นก็จะให้ พิจารณาตามสภาพความจริงว่า ร่างกายของเรานั้น จริง ๆแล้ว เป็นของสกปรก ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าทะนุถนอม แบบที่ เข้าใจในทางโลกเลย
ประโยคที่ใช้พิจารณา สั้น ๆได้ใจความก็คือ “ ร่างกายคนเราก็เหมือนถังขี้” คือ เมื่อมีการขับถ่ายออกมาจากที่ไหน ก็ เรียกสิ่งนั้นว่า เป็นขี้ทั้งนั้น  ออกมาจากตาก็เรียก ขี้ตา จากหูก็เรียกขี้หู จากฟันก็เรียก ขี้ฟัน  เป็นต้น สิ่งที่ขับถ่ายออกมาพอพ้นจากร่างกาย จากเดิมที่ร่างกายเคยคิดว่า เป็นของน่ารัก สวยใส หอมกรุ่นมีเสน่ห์น่าหลงใหล กลายเป็นของน่ารังเกียจไปได้ ไม่มีใครปรารถนาอยากจะรัก ไม่มีใครอยากได้
แน่นอนล่ะ เพราะว่า มันเป็น สารพัดขี้ทั้งนั้น ใครล่ะจะอยากได้ ขนาดลมที่อยู่ในท้อง ผายออกมายังเหม็น เลย
นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจแล้ว อวัยวะทั้ง 32 ประการที่มารวมกันในร่างกาย ต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะภายใน หากควักมาดู รับรองว่า ต่อให้ ภายนอกสวยหล่อกัน แค่ไหน ก็เบือนหน้าหนีทั้งนั้น
ตัวอย่าง ที่เห็นชัดในเรื่องนี้ คือ เรื่องราวของ คนที่มีความสวยงามในยุคพุทธกาล อย่าง พระนางอภิรูปนันทา ฟังชื่อก็ พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า สวยงามปานใด
พระนางเป็นราชธิดาของพระเจ้า เขมกะศากยะ จัดว่า สวยงามที่สุดในยุคสมัยนั้น พระนางภูมิใจในรูปลักษณ์ที่สวยงามของตนเองมาก ด้วยบุญบารมีที่ได้สร้างสมไว้ในชาติปางก่อนจึงมีโอกาสได้สดับธรรมของพระบรมศาสดา พระองค์ได้เทศนาเกี่ยวกับ การพิจารณาด้วย กรรมฐาน ทั้ง 3 แล้ว ทรงเนรมิตรูปกายของสาวงามที่ สวยงาม “ยิ่งกว่า” พระนางอภิรูปนันทา เสียอีกให้ ปรากฏขึ้น ให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของร่างกาย เจริญวัย เสื่อมลงไป จนตายในที่สุด
พระนางได้ชมและน้อมเอาภาพนิมิตนั้นมาพิจารณาว่า ร่างกายของพระนางนั้นไม่ได้มีความงามที่แท้จริง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาโดยแท้ จนพระนางสำเร็จเป็น อรหันต์ในขณะนั้นเอง
4. มีจิตใจใคร่ครวญถึง ร่างกายไม่ใช่ของ ๆเรา แต่เป็น ธาตุที่มารวมกัน ( ธาตุกรรมฐาน) แก้ไขความหลงใหล ในการยึดติดในตัวตน (อนัตตา)
นอกจากที่เราจะฝึกใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายตามที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อแล้วนั้น ก็ต้องพิจารณาให้ถึง ข้อสุดท้ายที่ว่า ไม่ว่าร่างกายของเราเอง หรือร่างกายของคนอื่น ไม่ใช่ ตัวเรา ของเราแต่อย่างใด เป็นเพียง ลักษณะธาตุทั้งที่ 4 ที่มารวมกันอยู่ชั่วคราว และไม่สามารถทนอยู่ได้นานตลอดไป แก่แล้วก็ แตกสลายไป ธาตุน้ำ อย่างน้ำเลือดน้ำเหลือง ตายไปก็กลับเป็นน้ำ  ธาตุดินอย่างเนื้อหนัง กระดูก ตายไปก็เน่าเปื่อยผุพัง กลับเป็นดินเหมือนเดิม ลมในร่างกาย ก็ขาดห้วงไปตั้งแต่สิ้นลม ธาตุไฟอันเป็น อารมณ์ ราคะ กิเลสทั้งหลายก็ มอดลงทั้งหมดไปด้วยเช่นกัน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกาะกุมรวมกันนี้  ที่หลงกันอยู่ว่า เป็นตัวเราของเรา จึงกลายเป็นเรื่องน่าขำ เพราะในที่สุดเราก็ต้องทิ้งมัน ตัวของเราทั้งหลายทุกคน แท้ที่จริงแล้วก็มีอยู่เพียงเท่านี้เอง  คนเรานั้น มีอายุเฉลี่ยต่ำลงทุกวัน ต่อให้อายุยืน ก็คงไม่มีใครอยู่เกิน 100 ปีไปได้ ถ้ามีก็นับคนได้ ทรัพย์สินร่างกายทั้งหมด ก็ต้อง ทิ้งไปอยู่ดีเมื่อถึงเวลา

จะเห็นได้ว่า การเริ่มต้น สร้างบุญบารมีให้เกิดพลังอำนาจ นั้น เริ่มจาก “จิตใจ ให้ผ่องใส”  เสียก่อน จึงจะสามารถยังประโยชน์ในสิ่งอื่น ๆต่อไปได้ เราจึง ต้องพยายามปฏิบัติรักษาใจไว้ให้ดี ให้คงอยู่ในทำนองคลองธรรม เมื่อจิตใจได้รับการฝึกฝน ให้ห่างไกลออกจากความชั่ว ด้วยการ บำเพ็ญ ทาน รักษา ศีล และ เจริญภาวนา ให้ ละ ความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งมวลแล้ว โอกาสที่คุณงามความดีทั้งหลายจะถูกดูดซับเข้ามาในร่างกายก็จะมีสูง

จิต หรือ กายทิพย์ ที่สะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น ที่มีสิทธิ์เข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และ เป็นสิริมงคล เพื่อดูดซับพลังงานจาก สิ่งที่ดี เหล่านั้นได้อย่างเกิดผลสมบูรณ์

 

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .