หลักการสร้างบุญด้วยทาน

การทำทานนั้นหมายถึงการสละทรัพย์สิ่งของที่ตนมีอยู่ให้แก่คนอื่นโดยมีความมุ่งหวังเพื่อจะทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และมีความสุขจากทานของตนแต่ทำว่า การให้ทานไม่ได้หมายถึงการเสียสละทรัพย์เพียงอย่างเดียวแต่เป็น อาวุธสำคัญในการขจัดความโลภและความตระหนี่ออกไปจากใจเพราะถ้าคนเราไม่โลภเสียแล้วกิเลสต่างๆ ในใจก็จะเบาบางลง
การประกอบสัมมาอาชีพต่างๆ เพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่ทางที่จะสร้างความร่ำรวยและสมบูรณ์พูนสุขได้ ต้องประกอบทานไปด้วยเพื่อเผื่อแผ่ทรัพย์และสิ่งที่ดีไปยังสังคมและคนรอบข้าง แบบเดียวกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เจือจานทรัพย์ทุกอย่างไปยังคนยากจนรวมไปถึงบุตรของตน
หลักของการสร้างทานจะได้ผลบุญมากน้อยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการถ้าองค์ประกอบมีครบถ้วน การให้ทานนั้นก็ย่อมมีผลบุญเกิดขึ้นมากอันได้แก่
1. วัตถุทานเป็นของบริสุทธิ์
คำว่า บริสุทธิ์นั้นเราทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งสกปรกใดๆ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเจือปน ถ้าเป็นเงินที่เรานำมาทำบุญนั้น ก็ต้องเป็นเงินทองที่เราหามาได้ด้วยความสุจริต มาจากการหยาดเหงื่อแรงกายของตัวเราเอง เช่น เงินที่ได้มาจากค่าแรง ค่าตอบแทน เงินเดือนในการลงแรงทำงาน ไม่ใช่เป็นการไปเบียดเบียนผู้อื่นมา เช่น การขโมยเงินของผู้อื่นมาทำบุญรวมถึงเงินจากการพนัน และการค้าขายอย่างเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นโดยหวังผลกำไรเกินควร 
เงินจากพนันนั้นเป็นเงินมาจากความชั่วมาจากความเสื่อมเพราะ เมื่อมีคนได้ทรัพย์ก็ต้องมีคนที่เสียทรัพย์ หลายคนโต้แย้งเรื่องวัตถุทานชนิดนี้อย่างไม่เข้าใจว่า ถ้าหากเงินนั้นได้มาจากการถูกหวย ถูกลอตเตอรี่ที่ทางบ้านเมืองเขาบอกว่าถูกกฎหมายแล้วเงินนั้นจะไม่บริสุทธิ์ได้อย่างไร
ความจริงแล้วบางเรื่องบางอย่างที่เราเห็นว่าถูกกฎหมายนั้นในทางธรรมนั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเพราะอบายมุขทั้งหลาย เช่นเหล้า บุหรี่ การฆ่าสัตว์ หวย การค้าหุ้นที่เข้าข่ายการพนัน การค้ามนุษย์หรือค้าประเวณี เงินเหล่านี้แม้ได้มาอย่างถูกกฎหมายก็จริงแต่ถือว่าไม่บริสุทธิ์สำหรับการสร้างบุญเพราะว่าเจ้าของเขาไม่เต็มใจจะให้
นอกจากเงิน,แหล่งที่มาของเงิน วิธีการที่ได้เงินไม่บริสุทธิ์ที่ไม่ควรจะเอามาทำบุญแล้ว ยังรวมถึงไปถึงวัตถุทานต่างๆ ด้วย ยกตัวอย่างในเรื่องของการทำบุญใส่บาตรด้วยอาหาร เช่นการไปฆ่าสัตว์เพื่อนำทำอาหารแล้วนำมาใส่บาตรให้พระสงฆ์ บุญที่ได้รับนั้นก็จะมีบาปเจือปนอยู่ด้วยคือไปเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นมาทำบุญอย่างนี้ก็ไม่เกิดความบริสุทธิ์ในวัตถุทาน
หรืออย่างเช่น การไปขโมยผลไม้ ไปเด็ดดอกไม้ของผู้อื่นที่เขาไม่อนุญาตโดยหวังจะนำมาร้อยเป็นมาลัยถวายพระ การไปขนทราย ขนดิน ขนปูนเพื่อจะนำไปสร้างวัดโดยไปบังคับเอาของๆ คนอื่นมาเพื่อต้องการจะนำไปทำบุญให้กับทางวัด อย่างนี้วัตถุทานทั้งหลายที่ได้มาโดยทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่เต็มใจจะให้ย่อมไม่เกิดผลบุญที่บริสุทธิ์ทำไปก็แทบไม่ได้อะไรเลย
เรื่องของวัตถุทานที่จะนำมาทำบุญนั้นมีหลายกรณีที่เราต้องใช้สติและปัญญาในการพิจารณาอย่างระมัดระวังว่า มีความบริสุทธิ์เพียงพอหรือไม่ ยิ่งวัตถุทานบริสุทธิ์มากเท่าใด ผลบุญนั้นก็จะยิ่งบริสุทธิ์ขึ้นมากเท่านั้น การให้ทานไม่จำเป็นต้องเป็นของประณีตมาก ทุกอย่างไม่สำคัญเท่ากับเหตุแห่งการได้มาด้วยการกระทำที่บริสุทธิ์และทำด้วยตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร จึงจะเป็น วัตถุทานที่มีความบริสุทธิ์สูงสุด ที่เห็นได้ชัดก็กรณีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
หรือการที่ นายทุคตะได้อานิสงส์แห่งการทำบุญมากร่ำรวยในชั่วพริบตาเพราะ วัตถุทานที่เขาหามาได้นั้นเป็นของที่ได้มาจากหยาดเหยื่อแรงงานของตนเองอีกทั้งขณะที่กำลังหาทรัพย์เพื่อจะมาทำทานก็เต็มไปด้วยความสุขความศรัทธาอานิสงส์ผลบุญจึงมหาศาล
2. เจตนาที่ให้ทานต้องมีความบริสุทธิ์
หมายความว่า คนที่ให้ทานนั้นดำรงอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ มีเจตนาที่ดีไม่หวังผลตอบแทนอยู่ทั้งสามระยะช่วงเวลาในการทำทาน คือ ช่วงก่อนให้ทาน ในขณะที่กำลังให้ทาน และหลังจากให้ทานไปแล้ว หากผู้ให้ทานยิ่งเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรมมากด้วยแล้วตัวของทานก็จะยิ่งบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นไปอีก
สิ่งสำคัญเรื่องเจตนานั้น เราต้องระวังอย่าทำทานเพราะเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ คือการทำทานเพราะ ต้องการหวังผล ทำทานเพราะต้องการเอาหน้า ทำทานเพราะต้องการปิดบังความชั่ว เพราะการให้ด้วยใจไม่บริสุทธิ์ทั้ง 3 ประการนี้จะไม่ได้บุญเลยหรือถ้าได้ก็ได้น้อยเต็มที เหมือนอาบน้ำด้วยน้ำหอมอาบอย่างไรก็ไม่สะอาดหมดจด
เจตนาของทานจะมีความบริสุทธิ์จะมีความบริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ที่ได้ทำทานนั้นได้ทำทานไปพร้อมกับการพิจารณาสิ่งของวัตถุทานทั้งหลายด้วยปัญญา โดยพิจารณาว่าสิ่งของที่เราครอบครองอยู่นั้นทุกสิ่งทุกอย่างแท้จริงแล้วเป็นของที่มีอยู่ประจำโลก เป็นสิ่งที่มีไว้ชั่วคราว เป็นของกลางๆ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
และได้ผ่านการเป็นเจ้าของมาแล้วหลายชั่วคน เมื่อถึงเวลาวัตถุนั้นมันก็มีความเสื่อมสลายไปเป็นเสมือน “สมบัติผลัดกันชม” เท่านั้นเอง ไม่ได้สละกันวันนี้ก็ต้องทิ้งต้องสละในตอนสุดท้ายของชีวิต เป็นไปตามหลักของ ไตรลักษณ์ คือ สิ่งของทั้งหลายล้วนเสื่อมสลาย (อนิจจัง) เป็นทุกข์ไม่อาจคงทนและตั้งอยู่ได้ตลอดไป (ทุกขัง) และไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งเลย (อนัตตา)
ผลแห่งอานิสงส์ในการทำทานนี้หากครบองค์ประกอบดีแล้วจะส่งผลทั้งในสวรรค์สมบัติและโลกมนุษย์สมบัติกล่าวคือหากได้จากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้ไปเสวยทิพย์สมบัติยังเทวโลก และเมื่อหมดบุญโดยที่ไม่ได้ก่ออกุศลกรรมเลยก็จะน้อมนำให้มาเกิดในโลกมนุษย์อีกครั้งและด้วยเศษบุญนั้นจะทำให้ได้เกิดมาเป็นคนที่มั่งมีตาม ระยะของเจตนาที่ให้ทานที่ต่างๆ กันไป
คุณผู้อ่านคงจะเคยได้พบคนที่ร่ำรวยต่างๆ อายุกันไปใช่หรือไม่ เป็นต้นว่า ร่ำรวยตั้งแต่เกิดมีกินมีใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด หรือ เกิดมายากจนแต่บั้นปลายรวย หรือ แม้กระทั่งรวยในตอนต้นแต่จนในตอนปลายก็มีปรากฏอยู่ให้เห็นซึ่งเป็นอานิสงส์แห่งผลทานในอดีตชาติจะส่งผล คือ
1. คนที่ร่ำรวยตั้งแต่ต้น
คนที่เกิดมารวยตั้งแต่เกิดเพราะในอดีตได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอมีความสมบูรณ์ ในเจตนาตั้งแต่ก่อนจะทำทานว่า ก่อนทำทานก็มีความยินดีมากที่จะได้ทำเพื่อหวังจะให้คนอื่นมีความสุขเมื่อได้เกิดมาจึงได้เกิดมาอยู่ในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พร้อมและถ้ายิ่งได้เรียนรู้ในธรรมและไม่ประมาทในชีวิตขยันขันแข็งประกอบอาชีพอย่างสุจริตก็จะร่ำรวยได้ตลอดชีวิตไม่มีตกอับแน่นอน
แต่ถ้าหากประมาทในการสร้างบุญกุศลและไม่รู้จักรักษาทรัพย์ที่มีไว้ให้ดีและไม่เรียนรู้จะสร้างทรัพย์ต่อมัวหลงระเริงในความสุข ก็จะพบกับความทุกข์ในเบื้องปลายได้ตามกฎแห่งกรรมที่เป็น กรรมใหม่ได้เช่นกัน
2. คนที่ร่ำรวยในวัยกลางคน
คนที่ร่ำรวยในวัยกลางคนเป็นเพราะ ได้ประกอบกรรมใหม่ที่เป็นกรรมดีสะสมในปัจจุบันเรื่อยไปอีกทั้งมีความขยันขันแข็งในกิจการงาน มีความซื่อสัตย์สุจริตแม้เกิดมามีฐานะยากจนหรือปานกลางก็กลายเป็นคนร่ำรวยได้เพราะการกระทำที่ดีของตนส่งผลเมื่อ รวมกับเศษบุญเก่าที่เคยทำด้วยเจตนาในการทำทานเพราะมีความบริสุทธิ์ในช่วงที่ 2 คือ ระยะระหว่างที่ให้ทานมีความบริสุทธิ์ แต่ไม่ได้บริสุทธิ์ในขณะก่อนจะให้
เพราะช่วงก่อนที่จะลงมือทำทานนั้น ตนเองไม่ได้มีจิตศรัทธาในกฎแห่งกรรม ในความดีมาก่อนและไม่คิดจะทำทานมาก่อนเลย แต่พอได้ตัดสินใจทำทานไปขณะที่ทำ ก็เกิดความรื่นเริงยินดีในการทำทานขึ้นมา ด้วยเศษผลบุญของระยะทานนี้ จึงได้เกิดมามีฐานะที่ไม่ร่ำรวยหรือแม้แต่ยากจนไปเลย ต้องต่อสู้สร้างฐานะด้วยตัวเองมาตั้งแต่วัยเด็ก
แต่เมื่อถึงวัยกลางคนด้วยบุญที่สะสมไว้ทั้งในปัจจุบันและ เศษบุญจากอดีตที่ได้ทำทานขณะที่ให้ทานได้ส่งผล ทำให้ ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรือง และหากในอดีตชาติเจตนาในการทำทานได้บริสุทธิ์ในระยะที่สามด้วยแล้ว บุญนั้นก็จะส่งผลให้กิจการงานที่ทำได้เจริญรุ่งเรืองตลอดไปไม่ประสบความล้มเหลวหรือหายนะในเบื้องปลายได้เลย
แต่ถ้าหากว่าในอดีตชาติไม่ได้ทำทานด้วยสมบูรณ์ในเจตนาในระยะที่สามในบั้นปลายชีวิตก็อาจมีเหตุล้มเหลวในบั้นปลายเกิดขึ้นเพราะผลแห่งทานหมดกำลังลงไปและขึ้นอยู่กับกรรมใหม่ที่เราได้ทำในชาติปัจจุบันนี้ด้วย ดังนั้นในปัจจุบันชาติเราจึงต้องทำบุญทำทานอยู่ตลอดเพื่อเป็นการเสริมกำลังบุญเป็นแรงสนับสนุนให้ชีวิตรุ่งเรืองได้ตลอดชีวิต
3. คนที่ร่ำรวยในช่วงบั้นปลายชีวิต
คนที่ร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตเพราะเศษบุญเก่ารวมกับบุญใหม่ที่ได้ทำส่งผลในช่วงหลังคือหากเป็นบุญเก่าเพราะ ผลแห่งทานที่ผู้กระทำมีเจตนาไม่ดีในระยะก่อนให้ทาน และ ระหว่างให้ทาน แต่ไปมีความยินดีงามพร้อมในระยะสุดท้าย เช่นก่อนทำก็ทำทานเพราะบังเอิญ ทำตามพวกพ้องไปแบบเสียไม่ได้ ขณะให้ก็ไม่ได้ศรัทธา และพอให้ไปแล้วกลับไปหวนคิดถึงผลแห่งทาน จิตใจก็เกิดความยินดีเป็นสุขขึ้นมา
ด้วยเศษบุญนี้จึงได้เกิดมายากจนและต้องทำงานหนักไปเกือบตลอดชีวิตต้องต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายสร้างตนเองมากแม้จะเลยวัยกลางคนไปแล้วก็ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ในปัจจุบันชาติก็ได้ประกอบคุณงามความดีทำทานอยู่เสมอมาโดยตลอดเช่นกัน
พอถึงช่วงบั้นปลายชีวิตทำให้ผลแห่งทานนั้นได้ส่งผล เกิดเหตุประสบช่องทางที่เหมาะ ทำให้กิจการงานเจริญรุ่งเรืองแบบไม่น่าเชื่อทำมาค้าขึ้นอย่างไม่คาดฝันตัวอย่างชีวิตคนจริงๆ ที่เห็นได้ชัดก็มีบุคคลสำคัญๆ ของโลกที่ร่ำรวยมหาศาลในช่วงปลายชีวิตก็มีให้เห็นจริงๆ
อย่างเช่นผู้พันฮาร์แลนด์ ดี แซนเดอร์ หรือ “ผู้พันแซนเดอร์” ผู้ก่อตั้ง ธุรกิจไก่ทอดแฟรนไชส์ที่โด่งดัง อย่าง KFC ซึ่งกว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จร่ำรวยมหาศาลก็ ต้องทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต และได้คิดค้นสูตรไก่ทอดลงมือทำอย่างขยันขันแข็งมุ่งมั่น จนประสบความสำเร็จสูงสุดร่ำรวยมหาศาลในวัย 74 ปี และได้อยู่ต่อมาจนอายุ 90 จึงเสียชีวิต กิจการของเขาก็ยังคงดำเนินการไปได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยอานิสงส์แห่งเจตนาบริสุทธิ์แห่งการให้ทานยังมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการทำทานขอให้เราตั้งใจทำด้วยจิตที่คิดจะให้และปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขให้สมบูรณ์พร้อมทั้งสามระยะเราก็จะได้ผลแห่งทานนั้นเต็มบริบูรณ์
3. เนื้อนาบุญ หรือผู้รับทานมีความบริสุทธิ์
การที่คนรับนั้นมีความบริสุทธิ์ เราเรียกกันว่าเป็นผู้ที่มี “เนื้อนาบุญ” ที่ดี เนื้อนาบุญนั้นจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นคนธรรมดา สามเณร แม่ชี พระภิกษุ หรือแม้แต่สัตว์ก็ได้ทั้งนั้น แต่การมีเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์เพียงใดขึ้นอยู่กับการ “ถือศีล” ในบุคคลนั้น
 ยิ่งผู้ที่มีเนื้อนาบุญนั้นบริสุทธิ์ด้วยการถือศีลมากเพียงใดข้ออานิสงส์ผลบุญที่เราทำก็จะยิ่งเพิ่มพลังมากขึ้นเหมือนเราหว่านเมล็ดข้าวลงในผืนดิน ถ้าเมล็ดข้าวตกไปในผืนดินใดก็ตามที่มีปุ๋ยมีน้ำที่บริบูรณ์ เมล็ดข้าวที่งอกเงยขึ้นมาก็จะงอกเงยสมบูรณ์ดีเยี่ยม 
แต่ถ้าเมล็ดข้าวใดที่ตกลงไปในดินที่ไม่มีน้ำไม่มีปุ๋ยหรือเนื้อนาบุญไม่ดีเป็นคนไม่มีศีลหรือมีศีลอยู่น้อย เมล็ดข้าวหรือบุญนั้นก็จะไม่งอกเงยขึ้นมาได้ หรือถึงแม้ต้นข้าวนั้นจะงอกขึ้นมาได้ ก็ไม่มีความสมบูรณ์ดี หากเป็นบุญก็จะทำให้บุญนั้นส่งผลได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น
เพราะอย่างนี้พระพุทธเจ้าถึงได้มีพระดำรัสตรัสไว้ เรื่องเนื้อนาบุญว่า แม้วัตถุทานที่มีความบริสุทธิ์ เจตนาทำทานก็บริสุทธิ์แต่ผลบุญของความบริสุทธิ์จะเกิดขึ้นได้มากน้อยขึ้นอยู่กับ “เนื้อนาบุญ” ตามลำดับของผู้รับ อันได้แก่ การให้ทานแก่เหล่าสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ผู้ไม่มีศีล มนุษย์ผู้มีศีล 5 มนุษย์ผู้มีศีล 8 สามเณร,พระภิกษุที่เป็นสมมติสงฆ์ พระภิกษุที่เป็นพระเถระชั้นอริยสงฆ์โสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามลำดับ
การที่พระองค์จัดลำดับไว้อย่างนี้เพราะว่า การทำทานหากได้ทำให้กับผู้รับที่ยิ่งมีความบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ผู้ให้ก็ยิ่งมีความรู้สึกอิ่มเอิบใจและเป็นสุขมากเท่านั้นไม่มีความรู้สึกเสียดายหรือตระหนี่มาเกาะกุมหัวใจอีกต่อไป
การจะดูให้รู้ว่าเนื้อนาบุญนั้นบริสุทธิ์ในระดับใด ถ้าเป็นคนธรรมดาเราอาจจะดูง่ายคือ คนๆ นั้นมีความประพฤติทั้งทางกาย วาจา และใจดี ดูแล้วน่าคบหาน่าเสวนาด้วยอันเป็นบุกลิกภาพของคนที่มีศีลธรรม แต่สำหรับผู้ทรงศีลอย่างพระภิกษุ เราต้องดูที่วัตรปฏิบัติของท่านเป็นสำคัญว่าท่านปฏิบัติได้ดี ปฏิบัติได้ตรง ปฏิบัติได้สมควรกับความเป็นพระสมณะหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าท่านเป็นพระที่เราไปทำบุญด้วยเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงหรือสมณศักดิ์ที่เหล่ามนุษย์ทั้งหลายเป็นคนยกยอปอปั้นท่านอันเป็นสิ่งสมมติกันขึ้นมาในโลก
เรื่องสมณศักดิ์สิ่งสมมติทั้งหลายนี้ บางครั้งพระสงฆ์หลายรูปที่มีวัตรปฏิบัติดีนั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะได้หลงทางไป เพราะท่านถูกกิเลสครอบงำจนหลงทางบุญหลงทางธรรมไป ซึ่งเราคงเห็นกันบ่อยๆ ในปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก พระบางรูปนั้นก็เสื่อมไปตามกรรมเก่าที่ท่านเคยสร้างมาด้วย จะหลีกหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น
สำหรับพระสงฆ์ที่มีเนื้อนาบุญสูงนั้น ขอให้เราสังเกตง่ายๆ ว่าท่านจะมีเมตตาและมีบารมีสูง มีคำสอนที่เราสามารถนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดีต่อชีวิตและผู้อื่นได้จริงๆ ท่านจะไม่ถือตัวเพราะท่านต้องการโปรดสัตว์ที่ยากลำบากเป็นการสร้างบุญบารมีของท่านเอง ท่านอาจจะมีลูกศิษย์มีบริวารมากหรือไม่มากก็ตามไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะมาสรุปว่าท่านดีหรือไม่ดี
หากคุณผู้อ่านเคยเข้าไปวัดที่สกปรกไม่ค่อยมีผู้ให้ความสนใจดูแลก็จะยังให้เกิดเสื่อมในศรัทธา สิ่งภายนอกจะเป็นตัวบ่งชี้ความประพฤติทั้งหลาย เหมือนกับเราไปเยี่ยมบ้านเพื่อนคนใดที่บ้านรกๆ เจ้าของบ้านก็มักเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย หากเป็นบ้านใครที่สะอาดสะอ้านมีระเบียบก็ย่อมแสดงออกถึงวินัยของเจ้าของบ้านเช่นเดียวกัน
วิธีการสังเกตว่า พระภิกษุท่านเป็นผู้มีข้อปฏิบัติดีจริงหรือไม่ ก็คือ ต้องหมั่นไปวัดทำกิจกรรมทางศาสนาบ่อยๆ สังเกตดูเจ้าอาวาส ดูพระลูกวัด ว่าท่านมีวินัยมากน้อยแค่ไหน ปฏิบัติธรรมสวดมนต์สม่ำเสมอหรือเปล่า วัดสะอาดสะอ้านหรือไม่ ถ้าวัดสะอาดเป็นระเบียบมากแสดงว่า พระวัดนั้นมีข้อวินัยและมีการปฏิบัติธรรมเรียนธรรมกันจริงๆ เพราะวินัยจะเป็นเครื่องกำหนดการปฏิบัติทั้งกิจกรรมภายนอกและความประพฤติต่างๆ ไปในตัว
ในเรื่องเนื้อนาบุญของผู้รับทานนี้จะเห็นได้ว่า จากตัวอย่างในพระพุทธศาสนาทั้ง นายมหาทุคตะ กับอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทำทานถูกเนื้อนาบุญเป็นอย่างยิ่ง คือได้กระทำต่อพระพุทธเจ้าผลบุญกุศลจึงสูงแต่กระนั้นก็ตาม พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเอาไว้ว่า การให้ทานกับสิ่งมีชีวิตด้วยอาหารทานก็ยังได้อานิสงส์น้อยกว่าการสร้าง “วิหารทาน” เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แด่คนหมู่มาก
ซึ่งข้อนี้นับได้ว่าเป็นโอกาสดีของบุคคลที่อาศัยอยู่ในยุคปัจจุบันที่ไม่มีโอกาสได้พบกับพระพุทธเจ้าแล้ว หรือแม้แต่ การจะค้นหาพระสงฆ์ระดับที่เป็นพระอริยะเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ก็มีโอกาสพบได้น้อยมาก การสร้างวิหารทานเพียงครั้งเดียวจะได้อานิสงส์มากกว่าการถวายสังฆทานที่มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์พระประทานนับร้อยๆ ครั้ง
วิหารทานนี้ไม่ได้หมายถึง การสร้างวัด โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญ หรือสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับสงฆ์เพียงอย่างเดียว วิหารทานยังรวมไปถึงการบริจาคทรัพย์ หรือการมาลงแรงช่วยสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของส่วนรวมอย่าง โรงพยาบาล โรงเรียน แท้งก์น้ำ สุสาน เมรุเผาศพ สะพาน หรือแม้แต่ศาลาริมทาง ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
ทว่าพระพุทธองค์ก็ยังตรัสถึงทานที่มีอานิสงส์สูงกว่าการให้วิหารทานมากขึ้นไปอีกนั่นคือ การให้ “ธรรมทาน” เพราะการให้ธรรมทานนั้นเป็นการสอนธรรมะให้คนอื่นได้รู้จักการสร้างคุณงามความดีให้รู้ในสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้หรือแม้กระทั่งได้รับรู้แล้วก็ได้รู้มากยิ่งๆ ขึ้นไป ให้เข้าใจถึงความเป็นไปตามสัจธรรมว่าไม่มีสิ่งใดเป็นของๆ ตน ทุกสิ่งเป็นทุกข์และต้องแตกสลายไป ให้ผู้ที่ยังมีความเห็นผิดได้กลับลำความคิดที่ผิดนั้นๆ เสียจะได้ไม่ไปชี้นำให้ผู้อื่นได้ทำผิดตาม การให้ธรรมทานได้แก่ การพูดให้ข้อคิดเพื่อนำไปปฏิบัติตนในทางที่ดีเป็นกุศลธรรม หรือการพิมพ์หนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์แจกจ่าย เป็นต้น
แต่ทานที่มีอานิสงส์สูงสุดได้บุญมากที่สุด พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นการให้ทานทางใจนั่นคือ “อภัยทาน” บุญของการให้อภัยทานเพียงครั้งเดียวนั้นสูงกว่าการให้ธรรมทานนับร้อยครั้งเพราะว่า การให้อภัยหรือการ อโหสิกรรมผู้ที่มาก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับเรา เป็นเหตุให้ไม่ต้องสร้างเวรสร้างกรรมผูกพันกันต่อไปอีก และเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อลด “โทสะกิเลส” ทำให้จิตใจมีความเมตตามากขึ้น
เมื่อคนที่ได้บำเพ็ญทานด้วยการอภัยมากๆ ก็จะละได้ซึ่งความพยาบาทอันเป็นการชำระล้างจิตใจให้สะอาดขั้นต้นเพื่อจะได้สร้างบุญในระดับสูงขึ้นได้ง่ายต่อๆ ไป การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากที่สุดในการให้ทานผลอานิสงส์จึงสูงกว่าทานทุกชนิด
แต่อย่างไรก็ตาม การรู้จักให้อภัยทานแม้จะกระทำได้มากมายขนาดไหนผลแห่งการสร้างบุญก็ยังไม่สูงเท่ากับฝ่ายศีล ซึ่งเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่ต่างชนิดและต่างระดับขั้นกัน

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .