มาถึงตอนนี้คงจะทราบดีแล้วว่า การกำเนิดของพระเครื่องเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร คนไทยนั้นคุ้นกันกับคำว่าพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ซึ่งหลายคนนั้นเหมาตีความรวมๆ ว่าคง
คล้ายๆ กัน แต่อยากจะเรียนให้ทราบว่า
พระเครื่องนั้น เป็นเรื่องของพุทธคุณ แต่เครื่องรางของขลังนั้นเป็นเรื่องของไสยศาสตร์
หลวงพ่อฤาลิงดำ พระอริยสงฆ์ของบ้านเราที่ท่านได้ละสังขารไปแล้ว ท่านเคยตอบคำถามนี้กับคนที่สงสัยในเรื่องของพระเครื่องและเครื่องรางของขลังในหนังสือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอบปัญญาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม 1 ว่า
“พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์มีค่าต่างกัน พวกของขลังนี่เป็นไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อทำลาย สำหรับพุทธศาสตร์เขาทำเพื่อการสงเคราะห์ เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภทนี้ไว้ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัยถ้าไม่ถึงอายุขัย ถ้าอันตรายของชีวิตถึงจะเกิดขึ้นก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้”
ถ้าเราได้อ่านคำตอบของท่านก็คงพอจะเข้าใจว่า ทั้งสองเรื่องนี้ เป็นคนละเรื่องกันเลย แต่คนไทยนั้นชอบเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จึงอาจจะสับสนกันและที่น่าตกใจไปมากกว่านั้น หลายคนยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้เอาเครื่องรางของขลังชั้นต่ำบางชนิดมาห้อยคอรวมกับพระเครื่องที่เป็นของสูงซึ่งเป็นพุทธศาสตร์
เรื่องของไสยศาสตร์ นั้นมีที่ใช้เวทมนต์และพิธีกรรมเป็นหลักสำคัญ ถ้านำมาใช้ในการก่อกรรมชั่วจะเรียกว่า “ไสยดำ” ที่ถือว่าเป็นวิชามารที่ใช้ทำลาย ทำร้ายคนเพื่อให้ได้ตามที่ตนเองต้องการซึ่งเรียกว่า ซึ่งคนในสมัยโบราณนั้นนิยมศึกษากันมาก อะไรที่ทำให้คนเหนือคน ย่อมเป็นกิเลสกองใหญ่ที่ทำให้คนหลงผิดได้ง่าย
คนที่เรียน ” ไสยดำ ” มานั้นส่วนใหญ่จะเอาวิชาที่ร่ำเรียนมาใช้พิฆาตฝ่ายตรงข้ามและทำตนเป็นคนนอกศาสนา ไม่นับถือสิ่งใดนอกจากครูผู้ประสิทธิ์วิชาให้ คนพวกนี้มีทั้งวิชาที่จะเล่นงานเขาและแก้คุณไสยด้วยตัวเอง
แต่ก็คนที่เรียนไสยศาสตร์ มนต์คาถาศักดิ์สิทธิ์อีกสายหนึ่งที่มาทางกุศลจะเรียกว่า “ไสยขาว” ที่เรียนมาแก้ในไสยดำ คนที่มีวิชาไสยขาวนั้นต้องเหนือกว่าคนที่ทำไสยดำถึงจะแก้ทางกันได้ ไสยขาวในความเข้าใจของคนนั้นมักจะหมายถึง เรื่องดีไม่มีโทษ ไม่มีภัยเพราะใจเป็นกุศลคิดช่วยเหลือผู้อื่น ครูบาอาจารย์ของบ้านเรานั้นท่านอยู่ในฝ่ายไสยขาวเกือบทุกท่าน ท่านถือว่าเป็นแค่ของเล่นและจะนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือคนที่ทุกข์ยากเท่านั้น แต่ครูบาอาจารย์ท่านใดจะเก่งด้านไหนต้องหมั่นสังเกตเอาเอง
หลายคนที่สนใจในเรื่องนี้คงเคยได้ยินเรื่องของครูบาอาจารย์ที่โดนพวกมารมาทดลอง ทั้งเรื่องของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคที่ออกธุดงค์จะเจอคนมาลองดีเสมอ เอาข้าวปลาอาหารมาถวาย แต่หลวงพ่อปานท่านเป็นผู้มีวิชา มองแวบเดียวก็รู้ ท่านเอาน้ำพุทธมนต์พรมลงไปในอาหารนั้น ฉับพลันก็กลายเป็นลวดหนามที่เกี่ยวกันอยู่
หรือครูบาอาจารย์หลายท่านก็ช่วยแก้ไขคุณไสย ให้กับผู้ที่โดนเล่นงาน ดังเช่นหลวงพ่ออุตตมะที่เคยช่วยเด็กคนหนึ่งที่โดนยาสั่ง หลวงพ่อเมตตาช่วยแก้ไขด้วยสมุนไพรให้หายได้ เรื่องเหล่านี้มีมากมายที่จะพอยืนยันว่าเรื่องของคุณไสยนั้นมีจริง
กล่าวกันว่า คนที่เล่นคุณไสยประเภทไสยขาว ซึ่งเป็นวิชาที่ใช้กำลังสำหรับแก้ไสยดำนั้น จะเป็นผู้ที่ถือศีลอย่างเคร่งครัดและไม่นิยมเสกของไปเล่นงานใคร นอกจากส่งของนั้นกลับไปให้เจ้าของเดิมผู้ที่ส่งมา ด้วยเกรงว่าถ้าหากใช้อวิชชา ไปเล่นงานเขาแล้วภูมิธรรมและวิชาที่มีของตัวเองจะเสื่อมลง
ความแตกต่างของผู้ที่เล่นวิชาไสยศาสตร์ 2 แขนงนี้ ก็คือ คนที่เล่นไสยดำจะหน้าตาหมองคล้ำ ไม่มีราศี ผิดกับผู้ที่เล่นวิชา ไสยขาว สำหรับแก้คุณ ซึ่งหน้าตาอิ่มเอิบ ผ่องใส เพราะไม่มีจิตใจไปหมกมุ่นในอวิชชา อีกทั้งต้องทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณร้ายที่ไล่ออกไปจากคนที่ถูกไสยดำเล่นงานอยู่เสมอ คนที่มีวิชาไสยดำ และ มีวิชาอาคมแก่กล้า
กล่าวกันว่าจะมีสีหน้าที่ดำเป็นแถบ ๆ พูดจาเลอะเลือน ไม่ค่อยรู้เรื่อง จนถึงขั้นคล้ายกับวิกลจริตในที่สุดด้วยจิตที่คิดไม่ดี ไม่เป็นกุศล กำลังจิตจึงสู้ไสยขาวไม่ได้ คนที่รักษากำลังใจ ด้วยศีล ด้วยการปฏิบัติภาวนากรรมฐานเป็นปกติ ไสยดำทำอะไรไม่ได้ บางทีเพียงเดินผ่านก็สลายตัว
เพียงมีพระเครื่องหรือวัตถุมงคล ที่มั่นใจว่าอาจารย์ผู้สร้าง สร้างด้วยบารมีพระพุทธเจ้า บูชาติดตัวไว้ รู้จักอาราธนา อธิษฐานขอพระคุ้มครองทุกวันก็ป้องกันได้สบายๆ อย่างไรก็ตามวิชาทั้ง 2 วิชานี้ก็ไม่มีทางสู้กับพระบารมีของพระพุทธเจ้าได้
คำว่า “เครื่องรางของขลัง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้สั้นๆ ว่า
เครื่องราง น. ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล
ของขลัง น. ของที่มีอํานาจศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สําเร็จได้ดังประสงค์และพอจะแยกให้เห็นกันได้ดังนี้
1. เครื่องราง หมายถึง วัตถุสิ่งของใดๆที่พระเกจิอาจารย์ ฆราวาสหรือผู้รู้ได้ทำการปลุกเสกขึ้นมาเพื่ออุปเท่ห์ในการใช้เครื่องราง เช่น ตะกรุด เบี้ยแก้ ผ้ายันต์ ลูกอม ฯลฯ
2. ของขลัง หมายถึง ของทนสิทธิ์ วัตถุใดๆ ที่มีดีในตัวเอง โดยพระเกจิอาจารย์ไม่ได้ทำการปลุกเสก เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น เหล็กไหล เขี้ยวเสือกลวง เขี้ยวหมูตัน เขากวางคุด ข้าวสารหิน ไม้ไผ่ตัน ฯลฯ
3. เครื่องรางของขลัง หมายถึง ของขลังใดๆที่มีดีในตัว ที่ได้ผ่านกรรมวิธีปลุกเสกหรือลงอักขระโดยพระเกจิอาจารย์ เช่น ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ตะกรุดไม้ไผ่ตัน เขี้ยวเสือกลวงลงอักขระ เบี้ยเเก้ ไม้ครู มีดหมอ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด การสร้าง เครื่องรางของขลัง มีเยอะแยะมากมายเลยครับ ฯลฯ
เครื่องรางของขลัง เป็นสิ่งที่มีมาตั้งสมัยโบราณกาลนับพันปีมาแล้ว และไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ชนชาติอื่นๆ ก็มีเครื่องรางของขลังใช้กันมานานแล้ว โดยเชื่อกันว่าของสิ่งนี้จะสามารถปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆ ให้ได้ รวมทั้งในเรื่องของโชคลาภ ความโชคดีทั้งหลายทั้งปวง
สำหรับความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง ของคนไทย ก็มีมาแต่ครั้งโบราณเช่นกัน ดังจะเห็นได้ในวรรณกรรมที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเครื่องรางของขลัง ที่นักรบใช้ติดตัวในยามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ห้าวหาญไม่เกรงกลัวข้าศึก โดยเชื่อกันว่าเครื่องรางของขลัง ที่สร้างขึ้นด้วยวิชาไสยศาสตร์ชั้นสูง โดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมอันเข้มขลัง จะสามารถช่วยคุ้มครองป้องกันภัยรอบตัวได้เป็นอย่างดี
เครื่องรางของขลัง อันโด่งดังที่คนไทยรู้จักกันมาช้านานแล้ว ก็คือ ตะกรุด ที่สร้างจากวัสดุต่างๆ เบี้ยแก้ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด เสื้อยันต์ ลูกอม เขี้ยวเสือกลวง ไม้ครู มีดหมอ รักยม กุมารทอง ฤาษี ชูชก หุ่นพยนต์ ปลัดขิก น้ำเต้า กะลาตาเดียว ราหูอมจันทร์ หมากทุย เชือกคาดเอว เชือกคาดแขน แหวนพิรอด นางกวัก พ่อเฒ่า พ่อแก่ (ฤๅษี) ท้าวเวสสุวรรณ ฯลฯ รวมทั้งเครื่องรางที่แกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หนุมาน ลิง องคต เสือ สิงห์ ราชสีห์ คชสีห์ ช้าง แพะ จิ้งจก ตุ๊กแก เต่า ปลาตะเพียน วัวธนู ควายธนู จระเข้ งู ฯลฯ
เครื่องรางของขลัง ของโบราณาจารย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นพระเกจิอาจารย์ หรือเกจิอาจารย์ฆราวาส ผู้มีวิชาอาคมขลัง มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญชำนาญการในเรื่องไสยศาสตร์เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามคนที่จะนำเครื่องรางของขลังเหล่านี้มาห้อยคอนั้นต้องรู้และแยกให้ออกด้วยว่าอะไรสมควร อะไรไม่สมควร
เพราะนอกจากตนเองจะเป็นผู้ทำให้พุทธคุณ พลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระเครื่องดีที่ตนเองมีเมื่อมาห้อยรวมกับเครื่องรางของขลังแบบไม่เข้าใจ ตนเองอาจจะถึงขั้นปรามาสพระอริยสงฆ์ได้ ซึ่งเป็นกรรมหนักที่จะส่งผลให้ชีวิตไม่เจริญก้าวหน้าได้
ทุกวันนี้ ให้ลองสังเกตดูก็ได้ว่า คนที่ห้อยพระเครื่องด้วยความเข้าใจและด้วยความเคารพนั้น จะมีใบหน้าอิ่มเอิบผ่องใส พูดจามักคนเชื่อถือ ดีมีศีลธรรม ชีวิตเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานผิดกับคนที่ห้อยหรือชอบเล่นเครื่องรางของขลังบางชนิดนั้นจะดูเหี้ยมเกรียม ดูแล้วน่ากลัว พูดจาเสียงดังไม่กลัวใครหรือดูน่าเชื่อถือสักเท่าไร
ที่เป็นอย่างนี้เพราะพุทธานุภาพในพระเครื่องนั้นดลบันดาล แตกต่างกับเครื่องรางของขลังที่ “ผี”นั้นเป็นคนบงการ บุญนั้นมันคนละชั้นกัน
ใส่ความเห็น