การที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็ด้วยจุดประสงค์อย่างแคบ นั่นคือ มุ่งแก้หัวใจที่อกหักของผู้อ่านให้ได้ แต่จุดประสงค์ที่แคบนี้กลับก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งยวด ดั่งที่เราน่าจะเคยรับรู้มาแล้วว่า อกหักทำให้เกิดผลร้ายมากถึงเพียงใด นั่นคือ อย่างน้อยที่สุดก็เจ็บช้ำน้ำใจ เจ็บปวดในใจ มองฟ้าสีสดใสกลับกลายเป็นสีหม่นหมองมัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ส่วนผลร้ายอย่างกลาง ก็ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เกิดโรคภัยไข้เจ็บ งานการ การเรียนก็เสียหาย ส่วนผลร้ายอย่างสูงสุดก็คือ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปด้วย และหนักถึงขั้นทำให้ทั้งตนเองและผู้อื่นตายได้ ถ้าเราได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ หรือดูข่าวทางโทรทัศน์ หรือทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ จะพบว่า มีเหตุฆ่ากันตาย หรือฆ่าตัวตายอยู่เป็นประจำ บางรายก็ฆ่ายกครัว ทำให้ลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง และคนอื่นๆ ตายไปด้วย บางคนก็ดีหน่อย คือตัดช่องน้อยแต่พอตัว ตายไปคนเดียว หรือทำให้ทั้งตนเองและคู่รักตายตามกันไปด้วย
ซึ่งจากการอกหักที่ก่อให้เกิดผลร้ายแรงถึงเพียงนี้ เราจึงต้องมาหาวิธีแก้อกหักอย่างเฉียบพลัน รวดเร็วที่สุดที่สุด นั่นคือ “การทำสมาธิ” การทำสมาธินี้ ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า ให้นั่งหลับตาแล้วบริกรรมคาถาอะไรสักอย่าง แล้วใจจะสงบขึ้นได้ แก้ความเจ็บปวดจากอาการอกหักได้ เปล่าเลยครับ หากท่านผู้อ่านเคยอกหักมาก่อน จะรู้ทันทีเลยว่า นั่งหลับตาเฉยๆ แก้อาการอกหักไม่ได้หรอก ยิ่งถ้าอกหักแรงๆ เจ็บปวดเป็นอย่างมาก ขืนมานั่งหลับตาเฉยๆ ก็ยิ่งมีอาการหนักเข้าไปอีก ดังนั้นมันต้องมีวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละคน
แต่ก่อนอื่นที่จะมาทำสมาธิ ซึ่งแต่ละคนก็ต้องทำในรูปแบบที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เราจะมาดูความหมายของสมาธิเสียก่อน
สมาธิ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ที่ตั้งมั่นแห่งจิต การที่จิตตั้งมั่นแน่วแน่ในสิ่งเดียว หมายถึงสมาธิแล้ว และสมาธิในความหมายของการลงมือทำ คือการทำใจให้นิ่งโดยใช้วิธีการต่างๆ ซึ่งหากจะเทียบกับการออกกำลังกาย ที่ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายยิ่งแข็งแรง แต่จิตใจนั้นตรงกันข้าม คือต้องทำให้จิตใจหยุดนิ่งให้ได้ คิดง่ายๆ ว่า จิตใจยิ่งเคลื่อนไหว หรือยิ่งหวั่นไหวยิ่งอ่อนแอ จิตใจต้องหยุดนิ่งถึงแข็งแรง เหมือนการรวมโฟกัสของแสงให้เป็นจุดเดียวกัน เมื่อแสงแดดที่กระจายมารวมเข้าที่จุดเดียว ก็จะมีพลังพอที่จะจุดไฟให้ติดได้ ดังนั้นแม้ร่างกายเราจะเคลื่อนไหวมากเพียงใด จิตใจเราต้องหยุดนิ่งให้ได้ และเราจะมีความสุข ทำให้จิตใจแข็งแรง แก้ปัญหาอกหักได้ และจะมีผลทำให้เรียนเก่งและทำงานได้ดีอีกด้วย
โดยปกติ คนทั่วไปอาจทำสมาธิด้วยวิธีที่พระท่านนิยมทำกัน คือนั่งหลับตาแล้วภาวนา “พุทโธ” แต่อย่าลืมว่า คนที่กำลังอกหัก จะมีสภาวะจิตใจไม่ปกติ คือ จิตใจอ่อนแอ หวั่นไหว ฟุ้งซ่าน มีจิตใจที่เจ็บปวด เศร้าซึม บางรายอาจแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ อาระวาด หรือทำร้ายตนเองได้ทุกเมื่อ ดังนั้นการทำจิตใจให้นิ่งด้วยสมาธิ ต้องมีขั้นตอน ได้แก่
1. ทำให้ใจไม่ว่างด้วยงาน หรือกิจกรรม
2. ทำให้ใจไม่ว่างด้วยการออกกำลังกาย
3. ทำให้ใจไม่ว่างด้วยการควบคุมจิตตรงๆ เลย
ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมานี้ อย่างที่ 3 ทำได้ยากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีคนที่ทำได้ จริงๆ แล้วยังมีอีก 2 วิธี เป็นวิธีพิเศษ ที่หลายๆ คนชอบทำกัน แต่ผู้เขียนไม่ขอสนับสนุนอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ดี วิธีแรกคือ ใช้สิ่งเสพติด ของมึนเมา และกิจกรรมแนวบั่นทอนพลังจิต มาทำให้จิตใจอ่อนแอไปอีก เช่น กินเหล้า ปาร์ตี้ยาอี้ ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่แย่มาก นอกจากสามารถทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตายได้แล้ว เผลอๆ อาจจะได้ไปอกหักต่อในคุกอีก
ส่วนวิธีที่สองคือ “การใช้หนามยอกเอาหนามบ่ง” วิธีนี้ก็ไม่สนับสนุน เพราะหลายๆ คนลองทำแล้ว แทนที่หนามเก่าจะถูกบ่งออกไป กลับถูกหนามอันใหม่ทิ่มจนบาดเจ็บอีก นั่นคือ หาแฟนใหม่ หรือหาคู่รักคนใหม่มาดามอกอย่างทันทีทันใด เพื่อให้ลืมคนเก่าที่เพิ่งเจ็บปวดใจหมาดๆ วิธีนี้ อาจจะดีตรงที่ถ้าได้คนดีที่หาได้ยากมาดามหัวใจ ก็เหมือนเจอหมอเทวดามารักษาอาการไข้ให้หาย แต่หากเกิดเหตุผิดพลาดก็เหมือนขี่รถแหกโค้ง ยิ่งบาดเจ็บเลือดโทรมกายทีเดียวเพราะฉะนั้นอย่าลองดีกว่า เพราะโดยธรรมชาติของคนเรานั้น ถ้าเราแข็งแรงดีแล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเจ็บป่วยอยู่ก็ควรรอให้หายก่อนจะดีกว่า การมีคนรักใหม่ก็เช่นกัน ถ้าเราหายอกหักดีแล้ว ไม่รู้สึกเจ็บปวดแล้ว เราก็สามารถลองเสี่ยงหารักใหม่ได้อย่างง่ายดาย
ส่วน 3 วิธีข้างต้น ที่สามารถรักษา หรือขจัดวิธีอกหักให้หมดไป มีหลักปฏิบัติ ได้แก่
1. ทำให้ใจไม่ว่างด้วยงาน หรือกิจกรรม
วิธีนี้ เป็นวิธีง่ายที่สุดที่คนอกหักนึกจะทำได้ บางคนตื่นมาตั้งแต่ดึกดื่น มาขัดรถ ล้างรถ ทำความสะอาดห้องนอน หรือทำความสะอาดบ้าน บางคนก็กวาดบ้านวนไปวนมาเป็นสิบๆ รอบ บางคนก็รดน้ำพรวนดิน เอาอะไรสักอย่างมาซ่อม บางคนก็นั่งต่อจิ๊กซอว์ ฯลฯ เพราะว่าหาอะไรทำไม่ให้ใจคิดฟุ้งซ่าน ซึ่งกิจกรรม หรืองานที่ควรทำตอนอกหักนั้น หากเราคิดว่ามันเหมาะกับเราและไม่ช่วยให้คิดมาก เป็นการทำสมาธิขั้นต้นอย่างหนึ่ง เพราะจิตใจของเรามุ่งมั่นไปในทางเดียว คือเรื่องงานที่เราทำ ขอให้มีหลักการลงมือทำ ดังนี้
– กิจกรรมที่ไม่ใช้กำลังกาย แต่มุ่งเน้นใช้สมอง ควรแน่ใจเสียก่อนว่าจะสามารถทำได้ เพราะกิจกรรมบางอย่าง เวลาว้าวุ่นจริงๆ มักทำไม่ได้ เช่น อ่านหนังสือเรียน หรือทำงานที่ใช้ความละเอียด ประณีตสูง ถ้าจะทำจริงๆ ควรรอให้ใจนิ่งๆ ก่อนดีกว่า หรือหลีกเลี่ยงไปทำอะไรที่ง่ายกว่า เช่น อ่านหนังสือนิยาย หรือดูภาพยนตร์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
– ควรทำงานอย่างที่ก่อให้เกิดผลจริงๆ เช่น อกหักแล้วมาทำอาหารแก้เครียด แก้คิดมาก ก็ควรทำให้กินได้จริงๆ ไม่ใช่ทำไปอย่างมั่วซั่ว ถ้าเช่นนั้นอย่าทำเสียเลย เพราะเสียดายของ และถ้าทำเสร็จแล้วก็ควรแบ่งให้คนอื่นกินด้วย คนอื่นจะได้มีความสุข ตัวเราก็จะได้สุขด้วย ดังนั้นงานที่ไม่เกิดประโยชน์ เราไม่ควรทำ เช่น กวาดบ้านเป็นสิบๆ รอบ หรือรดน้ำ พรวนดิน ทั้งๆ ที่ต้นไม้ก็แข็งแรงอยู่แล้ว ฯลฯ เราควรทำแต่พอเป็นประโยชน์และมุ่งเกิดผลจะดีกว่า
– หากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทำ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์บางอย่าง อาจทำให้เราลืมอารมณ์อกหักไปเลยก็ได้ อย่างกิจกรรมการกุศลต่างๆ เช่น เข้าค่ายอาสา เป็นอาสาสอนหนังสือเด็ก หรือเป็นอาสาพัฒนาชนบท หรือเข้าวัดหาหลักสูตรกรรมฐานเข้าร่วม ซึ่งจะไม่เหมือนการนั่งทำสมาธิกรรมฐานคนเดียว เพราะถ้าไปวัดจะออกแนวอบรม เป็นกิจกรรมซะมากกว่า เป็นต้น แต่หากเราคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรไม่ออก ขอแนะนำให้เปิดเว็บไซต์ดู สมัยนี้เราสามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์ได้ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่ายังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เราสามารถเข้าร่วมได้โดยที่เราไม่รู้มาก่อน
2. ทำให้ใจไม่ว่างด้วยการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งในการทำให้จิตไม่ว่างและเป็นการทำให้จิตใจสงบ ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่าน การออกกำลังกายยังเป็นการปรับเคมีในร่างกายที่จะทำให้ร่างกายสมดุล เวลาที่ออกกำลังกาย อวัยวะทั้งภายในและภายนอกร่างกาย จะเคลื่อนไหว ทำให้เลือดภายในร่างกายสูบฉีดและจะผลักดันของเสียออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทางเหงื่อและลมหายใจ อีกทั้งสมองสองซีก คือซีกซ้ายและซีกขวาจะเกิดการกระชับ ทำให้สมองได้ออกกำลัง โดยเฉพาะถ้าออกกำลังเหนื่อยๆ จิตใจจะรวมศูนย์ หรือจิตใจจะเป็นสมาธิโดยอัตโนมัติ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ทำให้เป็นการทำสมาธิอีกวิธีด้วย ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและยังทำให้ร่างกายแข็งแรงแก้โรคอกหักได้อีกด้วย การออกกำลังกายแก้อกหักที่ดี ควรมีหลักการ ดังนี้
– ออกกำลังตามเกมกีฬา เพราะเกมกีฬาจะทำให้เรารู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน ลืมความรู้สึกเศร้าๆ ที่มี การมีเกมกีฬาที่ชัดเจนจะทำให้เรามีจุดมุ่งหมายในการเล่น ดีกว่าเล่นไปงั้นๆ ไม่มีเป้าหมาย หากเราเป็นวัยรุ่น ที่มีโอกาสแข่งขันในเกมกีฬา เราอาจใช้กีฬาให้ลืมเรื่องเศร้าๆ ได้ เช่น มุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อให้เป็นตัวจริงในการแข่งบาสเกตบอล หรือซ้อมว่ายน้ำเพื่อหวังเหรียญ เป็นต้น
– ออกกำลังกายที่เหนื่อยจริง หนักจริง เพราะร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ถ้าเราไม่เอาจริง มันอาจไม่ตอบสนองดีเท่าที่ควร แต่ถ้าเราเอาจริง ร่างกายจะตอบสนองได้อย่างดีเยี่ยม รูปร่างบุคลิกภาพของเราอาจเปลี่ยนไปจนดูดีกว่าเดิมมาก และจะทำให้เรารู้สึกถึงความแข็งแกร่งของร่างกายของเราหลังออกกำลังกายได้
– อย่ามองหาการออกกำลังที่เราทำไม่ได้ แต่ให้มองหาสิ่งที่เราทำได้ง่าย ได้ผลเร็ว เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เล่นฟิตเนส ซึ่งจะดีกว่าหากีฬาแปลกๆ ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ เช่น สกี เล่นเซิร์ฟ เป็นต้น
3. ทำให้ใจไม่ว่างด้วยการควบคุมจิตตรงๆ เลย
การทำสมาธิขั้นนี้ เป็นการทำสมาธิขั้นมุ่งตรงเพื่อควบคุมจิตล้วนๆ นั่นเอง โดยไม่เอาการเคลื่อนไหวทางด้านร่างกายมาปนมากนัก ซึ่งการทำสมาธิเช่นนี้ มีหลายวิธี ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการทำสมาธิแบบที่พระ หรือนักบวชนิยมทำกันนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนขอกล่าวไว้ เพราะยังไงซะเราก็ควรฝึกทำซะบ้าง จะเป็นประโยชน์มากต่อตัวเราเอง ปัจจุบันนี้ การทำสมาธิได้รับการทดลองมาแล้วว่า สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองได้ ดังนั้นจากคนไม่เรียนเก่ง หรือทำงานไม่เก่งก็สามารถกลายเป็นคนเก่งได้ และยังแก้ความเจ็บปวดจากการอกหักได้ชะงักชะงันด้วย แต่ทว่าเราต้องเลือกเอาวิธีที่เหมาะกับตัวเองนะ
โดยทั่วไป หลักสมาธิของศาสนาพุทธ มักมี 3 ระดับ ดังนี้
ขณิกสมาธิ เป็นสมาธิที่มีแรงน้อยสุด เกิดขึ้นเมื่อเราตั้งใจจะทำอะไรสักอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น อ่านหนังสือ ขับรถ ทำอาหาร ยิงปืน ออกกำลังกาย พูดสนทนา เรียน และทำงาน เป็นต้น ซึ่งสมาธิเช่นนี้ รวมถึงใช้ในการทำกิจกรรม หรือใช้ในการออกกำลังกาย ดั่งที่กล่าวไปแล้ว โดยปกติคนทั่วไปมักจะมีขณิกสมาธิ โดยมีน้อย มีมากไม่เท่ากัน ซึ่งถึงจะเป็นสมาธิที่มีแรงน้อยสุด แต่ก็ยังมีคนที่ไม่มีขณิกสมาธิเอาเสียเลย ซึ่งคนที่ไม่มีแม้สมาธิจะจดจ้องอะไรสักอย่างได้เป็นเวลานาน เวลาอกหัก จะเจ็บปวดมาก หรือคุมอารมณ์ตัวเองได้ยากมาก
อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่มีแรงปานกลาง ความแน่วแน่ของจิตใจจะมากกว่าขณิกสมาธิ แต่แน่วแน่น้อยกว่าระดับสูงสุด คือไม่ถึงกับมีสมาธิที่ดิ่งจนถึงกับไม่จนใจอะไรเลย แต่ยังอยู่ที่ตรงกลาง คือดีกว่าความแน่วแน่ชั่วคราว สามารถแน่วแน่ได้นานกว่าและมีพลังแรงกว่า สมาธิขั้นนี้ ทุกคนน่าจะฝึกจนใช้การได้ดี เพราะจะดีกว่าจับจดเดี๋ยวๆ ด๋าวๆ เช่นบางคนอ่านหนังสือได้เพียง 30 นาทีก็ต้องเลิกแล้วพัก แต่ถ้ามีสมาธิขั้นอุปจารแล้ว ก็สามารถอ่านหนังสือ 2-3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นได้
อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่แรงสุด คือไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งนั้นแล้ว แต่ก็ทำได้ยากมาก ต้องอาศัยการฝึกหัดอย่างจริงจัง ขยันอดทน สมัยก่อนที่จะมีพุทธศาสนาเกิดขึ้น คนที่ต้องการหนีความทุกข์ทางโลก มักจะทำอย่างไรก็ได้ เช่นนั่งหลับตาแล้วเพ่งใจให้อยู่กับสิ่งเดียว ทำอย่างหนักจนสามารถบรรลุถึงสมาธิขั้นนี้และแน่วแน่สูงขึ้นไปอีกได้ ภาษาบาลีเรียกว่า “ฌาน” ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะลืมความทุกข์ทางโลกจนหมดสิ้นทุกอย่าง แต่ยังมีสูงกว่านี้ขึ้นไปอีก แต่ผู้เขียนไม่ขอกล่าวแล้ว เพราะแค่นี้ก็เพียงพอที่จะลืมอาการเจ็บปวดจากอกหักแล้ว
จากระดับสมาธิทั้ง 3 ระดับนี้ หากเราเป็นคนมีกำลังสมาธิดี หรือเรียนหนังสือได้เก่ง กรุณาอย่าเพิ่งคิดว่า จะปลอดภัยจากการไม่เจ็บปวดจากการอกหัก ดังที่กล่าวไปแล้วในบทแรกว่า อารมณ์ที่เกิดตอนอกหักจะแปรปรวน ซับซ้อน รุนแรง ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล คนบางคนมีสมาธิดีเยี่ยม เรียนเก่งถึงขั้นเกียรตินิยม แต่พออกหักขึ้นมา ถึงขนาดฆ่าตัวตายเลยก็มี เพราะฉะนั้นสมาธิที่ใช้ในการทำงานและใช้ในการเรียนถึงจะดีแล้วก็ตาม แต่ถ้าไม่นำมาหัดนำสมาธิมาใช้ควบคุมอารมณ์ หรือไม่หัดเอาสมาธิมาเปิดปัญญาให้เห็นความเป็นจริงของโลก ก็จะเหมือนกับเรามีรถยนต์คันหนึ่ง ขับตระเวนแต่ทางใต้ตลอดเวลา ไม่เคยขับขึ้นทางภาคเหนือเลย เพราะฉะนั้น รถคันนั้นก็ไม่อาจพาเราถึงภาคเหนือได้ เพราะเราไม่เคยขับไปนั่นเอง
การทำสมาธิแบบควบคุมจิตตรงๆ มีหลายวิธี ดังนี้
การควบคุมลมหายใจ (อาณาปานสติ)
อาณาปานาสติ เป็นสมาธิของพระพุทธเจ้า ที่มีประวัติบันทึกไว้อย่างชัดเจน ท่านได้ทำตั้งแต่ท่านยังทรงพระเยาว์ ขณะที่พระบิดาของท่านกำลังทำพิธีจรดแรกนาขวัญ ท่านได้ใช้อาณาปานสติจนกระทั่ง ก่อให้เกิดความอัศจรรย์ขึ้นคือ ต้นไม้ที่ท่านทรงประทับอยู่ พ้นเหนือกาลเวลาไป ซึ่งต่อมาอาณาปานสตินี้ ก็เป็นพื้นฐานของการฝึกสมาธิลมปราณแบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วอาณาปานสติมีความซับซ้อนพอสมควร แต่ผู้เขียนขอกล่าวเพียงย่อๆ และขอให้ท่านผู้อ่านทราบว่า อาณาปานสติ เป็นการมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีที่พิเศษมากวิธีหนึ่ง มีตำนานกล่าวขานไว้ว่า ผู้ที่ฝึกอาณาปานสติจะควบคุมร่างกายได้ ซึ่งหลักปฏิบัติโดยย่อ มีดังนี้
– นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือวางมือตามสะดวก หรือจะนั่งบนเก้าอี้ หรือโซฟาก็ได้ ท่านอาจนั่งพิงได้ แต่ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่หลับเสียก่อน
– แรกๆ อาจไม่หลับตาก็ได้ หรืออาจหรี่เปลือกตา ทำพอใจนิ่งสักพัก ถึงหลับตา
– เริ่มจากหายใจเข้ายาวๆ ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก
– แรกๆ ให้เอาจิตใจวิ่งตามลมหายใจ ลมหายใจวิ่งจากข้างนอกวิ่งเข้ามาในท้อง ไปสิ้นสุดในท้อง แล้ววิ่งออกมากระทบที่จะงอยจมูก ก็เอาความคิดตามการวิ่งของลมหายใจนั้น
– ขั้นต่อมา เมื่อวิ่งตามลมหายใจจนชำนาญแล้ว จึงเฝ้าดู คือไม่ต้องเอาความคิดตามลมหายใจเข้าออก แต่ให้ตั้งสติไว้ที่จุดตรงจะงอยจมูกพอลมหายใจออกมาก็รู้ว่าออก และเอาสติไปตั้งไว้ในท้องตรงจุดลมไปสิ้นสุด ถ้าลมไปสิ้นสุดตรงนั้นก็รู้เช่นกัน
– การทำอาณาปานสติ หลายท่านมักเอาคำว่า “พุทโธ” หรือนับเลขมาใช้ ซึ่งแล้วแต่ความสะดวกของท่าน
– การทำอาณาปานสติ ให้ท่านวัดผลเมื่อแรกฝึกโดยจับเวลาไว้สัก 1 ชั่วโมง ถ้าเราสามารถนั่งควบคุมลมหายใจ หรือมีสติกับลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกได้นาน 1 ชั่วโมง แสดงว่าเราควบคุมจิตได้พอสมควรแล้ว แต่โดยส่วนมาก อาณาปานสติมักไม่ง่าย ส่วนใหญ่มักควบคุมลมหายใจได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง เราจึงต้องอดทนและฝึกทำบ่อยๆ อย่าคิดว่าเสียเวลาเพราะมีประโยชน์ต่อจิตใจและสมองโดยตรง
การควบคุมจิตใจโดยการเพ่งกสิณ
การเพ่งกสิณต้องอาศัยเครื่องมือเข้ามาช่วย ซึ่งโดยปกติสมาธิแบบเพ่งกสิณนั้นมี 10 ประการ โดยอาศัยเครื่องมือช่วยทั้ง 10 อย่าง ได้แก่ แสงสว่าง ไฟ ดิน น้ำ ลม ช่องว่างของอากาศ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว ซึ่งเครื่องมือจากที่กล่าวมานั้น มีวิธีการหลักก็คือ เอามาเพ่งดูจนจำติดตา แล้วหลับตา สร้างภาพในความคิดถึงเครื่องมือทั้ง 10 อย่าง จนจำติดแน่นในใจ ถ้ายังจำไม่ได้ก็ลืมตาดูอีก ซึ่งกสิณทั้ง 10 อย่างนี้ ส่วนใหญ่ผู้ฝึกจะไม่ฝึกทีละหลายอย่างในคราวเดียว แต่จะฝึกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เช่นเพ่งน้ำก็จะเพ่งน้ำอย่างเดียว จนเกิดภาพในใจ เวลาหลับตาก็จะเห็นดวงนิมิตจากน้ำติดอยู่ในใจ หรือหากเลือกเพ่งไฟก็เช่นกัน จะไม่เพ่งจนแสบตา หรือเจ็บปวดดวงตา แต่แค่มองพอให้เห็นภาพขึ้นในใจเท่านั้น พอหลับตาต่อก็จะเห็นภาพในใจอย่างชัดเจน การฝึกกสิณนั้น มีข้อดีตรงที่หลายท่านที่ฝึกมีความเห็นว่า ทำให้จิตใจเป็นสมาธิเร็วดี คือใจแนบแน่นเร็ว บงท่านอาจใช้คำบริกรรมไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็มักทิ้งคำบริกรรมหลังจากเห็นภาพติดตาในใจดีแล้ว ซึ่งหากท่านผู้อ่านอยากลองฝึกเพ่งกสิณ ผุ้เขียนก็ขอแนะนำกสิณหลักๆ ให้สามารถลองฝึกได้ ตามวิธีการดังนี้
– กสิณไฟ : มักมีผู้เข้าใจว่าต้องก่อกองไฟกองใหญ่ๆ แล้วฝึก หรือต้องใช้ฉากกั้นมาครอบกองไฟให้ดูยุ่งยาก จริงๆ แล้วหลักของกสิณไฟก็คือ การนำภาพดวงไฟมาไว้ในใจให้ได้ คือต้องให้ไฟแดงๆ ที่ลุกไหม้อะไรก็แล้วแต่ กลายมาเป็นดวงในใจเราให้ได้ ซึ่งตั้งแต่โบราณมาครูบาอาจารย์ที่จะฝึกกสิณไฟอย่างถูกต้อง มักใช้ไม้ชนิดหนึ่ง ที่พอเผาไฟแล้วจะเป็นสีเหลือง ไม่แดงจนแสบตาเกินไป และมีฉากกั้นกองไฟกับตัวเราไว้ แล้วเวลาเรามอง เราจะเห็นไฟเป็นดวงๆ แล้วนั่งเพ่งไฟดังกล่าว พร้อมกับบริกรรมว่า “เตโชๆ ๆ ๆ ” จนใจสงบ
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ฝึกสามารถจุดเพียงเทียนก็ได้ แล้วให้จดจำเปลวเทียนนั้นให้ดี แล้วน้อมนำมาวางไว้ในความคิดของเรา แล้วขณะที่นั่งเพ่งกสิณก็ไม่จำเป็นต้องจุดเทียนทิ้งไว้ เดี๋ยวมันจะไหม้ห้องนอน หรือไหม้บ้านได้ แค่เพียงจุดแล้วจำลักษณะของดวงไฟให้ได้ อย่าไปคิดฟุ้งซ่านตามความไหวของเปลวไฟก็พอ ซึ่งเมื่อจำดวงไฟไว้ในใจของเราได้ ก็เป็นอันว่าสามารถทำให้ใจของเราเพ่งในดวงไฟในใจของเราได้
– กสิณน้ำ : นำน้ำใส่ขัน ขันควรเป็นสีขาว หรือเป็นขันเงิน จะได้เห็นน้ำชัดเจน เพ่งน้ำไปจนกระทั่งเห็นภาพน้ำติดตา ตั้งแต่โบราณมาครูบาอาจารย์มักบริกรรมว่า “อาโปๆๆๆ”
– กสิณแสงสว่าง : มักใช้การเพ่งดูหลอดไฟที่แสงไม่แสบตาก็ได้ หรือเพ่งแสงจากท้องฟ้า พระอาทิตย์ตอนเย็น หรือพระจันทร์ หรือเพ่งลูกแก้วก็ได้ทั้งนั้น
– กสิณลม : ให้ดูลมที่พัดยอดไม้ หรือใบไม้ปลิว หากฝึกในห้อง ให้หากระดาษมากรีดเป็นริ้วๆ แล้ววางกระดาษไว้ให้พัดลมพัด หรือสังเกตผ้าที่โดนพัดลมพัดก็ได้ กสิณลมนี้ต้องจ้องดีๆ เพราะเราจะมองไม่เห็นลม แต่จะมองเห็นสิ่งที่ลมพัดแทน เวลาฝึกบริกรรมว่า “วาโยๆๆๆ” จนกว่าภาพลมจะติดตา ซึ่งกสิณลมฝึกได้ยากกว่ากสิณชนิดอื่นมาก
– กสิณสี : ใช้วงกลมสีอะไรก็ได้จากที่กล่าวไปแล้วมาเพ่ง ซึ่งสามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือ หรือร้านเครื่องเขียนทั่วไป แต่อย่าเพ่งจนแสบตา ควรเพ่งพอจับภาพได้แล้วหลับตาเพ่งต่อในใจก็พอ
การพิจารณากาย
การพิจารณากายสามารถแก้เรื่องความรักที่ไม่สมหวังได้ดีมากวิธีหนึ่ง ทำให้รู้ว่าทั้งเราทั้งเขามีความไม่เที่ยง ล้วนต้องแก่เจ็บตายไปด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จะมัวมาหลงยึดติดกันไปให้เจ็บปวดยาวนานทำไม ความรักนั้นไม่ยั่งยืน ไม่แท้จริง ไม่เร็วก็ช้าที่ต้องจากกัน ถึงไม่จากกันวันนี้ วันหน้าก็ต้องจากกันอยู่ดี การที่เรายึดติดเพราะความฉาบฉวยของผิวกาย หากเราไม่ยึดติดกายแล้ว ความเจ็บปวดในความรักก็จะหายไปได้เช่นกัน
ดังนั้นเราจึงควรฝึกการพิจารณากายไว้ให้มากๆ ซึ่งหลักการพิจารณากายคือ การใช้จินตนาการมองเข้าไปหาความจริงในร่างกายของเรา นั้นก็คืออวัยวะน้อยใหญ่ ทั้งตับไต ไส้พุง ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ และมีหนังหุ้มกายอยู่ ซึ่งการพิจารณากายไม่ใช่ของง่ายๆ เลย หลวงปู่มั่นท่านเคยเทศน์สอนว่า การพิจารณากายต้องอาศัยความวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างมาก อย่าเกลียดคร้าน ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นความเป็นตัวเราของเราได้
ซึ่งในกรณีที่เราอยากหายเจ็บปวดเรื่องความรักที่ไม่สมหวัง อาจจะไม่ถึงกับต้องพิจารณาอย่างกับท่านที่ต้องกรบรรลุนิพพานก็ได้ เพียงแต่พิจารณาพอให้คลายความปักใจในร่างกาย ในรูปร่าง แค่นั้นก็พอแล้วครับ เพื่อจะได้ตระหนักรู้ความจริงว่า ถึงเสียใจไปก็ไม่ได้อะไรเลย สิ่งที่เรายึดมั่นไว้ ไม่มีใครไปจับมันไว้ได้อยู่แล้ว ล้วนแต่สลายตามกาลเวลาไป การพิจารณากาย ขอให้เริ่มดังนี้
– ควรนั่งขัดสมาธิมากกว่ายืนหรือนอน เพราะอาจใช้เวลานานสักหน่อย หากยืนอาจจะปวดเมื่อยขา และหากนอนก็อาจม่อยหลับไป ควรนั่งดีกว่า นั่งขัดสมาธิ วางเท้า วางมือให้สบาย หลังตรง หากไม่มีอาการปวดหลังจริงๆ ก็ไม่ควรนั่งพิง เพราะจะทำให้หลับได้ง่าย
– เริ่มจาก นึกถึงสิ่งที่มองเห็นได้ชัดในร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ลองคิดดูว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยง ต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ เพราะเป็นของไม่สะอาด หากหลุดจากร่างกายตกใส่อาหาร ก็ต้องเทอาหารทิ้งไป ทั้งๆ ที่มาจากร่างกายเราแท้ๆ ร่างกายเราจึงเป็นของไม่สะอาด แม้แต่เสื้อผ้า เวลาวางไว้เฉยๆ ก็สะอาดดี แต่ถ้าเราเอามาสวมใส่ร่างกาย กลับเหม็น ต้องซักต้องล้าง แม้แต่ร่างกายก็ต้องอาบน้ำทุกวัน จึงเป็นการเน้นย้ำว่าร่างกายเป็นของไม่สะอาด พร้อมที่จะสกปรก เหม็น และเน่าได้ทุกเมื่อ
– ต่อมานึกถึงอวัยวะที่เกาะติดกับร่างกายที่เห็นได้ง่าย เช่น หู ดวงตา นิ้ว จมูก ลิ้น แขน ขา สิ่งเหล่านี้ หากไม่ประกอบกับร่างกาย ถ้าหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ พร้อมกับ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่พิจารณาไปก่อนหน้านี้ ก็เท่ากับร่างกายไม่มีอะไรเลย มีเพียงก้อนเนื้อ และของเหล่านี้ก็พร้อมจะแตก จะดับ จะหลุด จะกระจายได้ทุกเมื่อ หากเราไม่มีชีวิตอยู่
– นึกถึงอวัยวะภายในบริเวณลำตัวเป็นสำคัญ เป็นอวัยวะที่สำคัญมาก แต่เราไม่อยากคิดถึงมันมากที่สุด เพราะมันน่าเกลียด มีหัวใจ ตับ ไต ไส้ ม้าม ปอด กระเพาะปัสสาวะ มีน้ำเลือด มีน้ำหนอง มีน้ำเหลืองในร่างกาย ในหัวก็มีก้อนมันสมอง มีน้ำลาย มีน้ำมูก นี่คือตัวตนของเรา นี่คือตัวตนของคนที่เรารัก เวลาเรารักกัน ไม่มีใครนึกถึงของพวกนี้เลย ทั้งๆ ที่คนเรากอดกัน ก็เท่ากับกอดของเหล่านี้ด้วย กอดอุจจาระ ปัสสาวะในร่างกายคนด้วย
– นึกโครงกระดูกในร่างกายคน โครงกระดูกเป็นอวัยวะหลักในร่างกายคน เป็นแกนเคลื่อนไหวในร่างกาย ทุกครั้งที่เราเคลื่อนไหว เราเคลื่อนไหวกระดูกด้วยทั้งนั้น
– นึกแยกอวัยวะในร่างกายของเรา นึกแยกเท่าที่จะแยกได้ ให้นึกอย่างตั้งใจ เห็นภาพไม่ชัดเจนไม่เป็นไร ค่อยๆ นึกแยกไปทีละส่วน นึกกระจายไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะนึกออก อย่าคิดว่าเราคิดไปเอง แม้เป็นจินตนาการ แต่อวัยวะภายใน รวมถึงสิ่งที่เรากำลังนึกอยู่มีจริงทั้งนั้นในร่างกายของเรา
– นึกกระจัดกระจายอวัยวะภายในของเราให้มากๆ นึกให้ละเอียดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ พอแยกกระจัดกระจายแล้ว ก็นึกให้อวัยวะเหล่านั้นประกอบเข้ามาเป็นเราอีกครั้ง ทำหลายๆ ครั้ง ซ้ำๆ ซากๆ จนนึกแยกให้ละเอียดชัดเจนที่สุด
– ระหว่างที่ฝึก หากเมื่อยล้า หรือนึกไม่ออก ก็นอนพักเสียก่อน และเราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เราอาจไปหาซื้อสมุดภาพเกี่ยวกับอวัยวะภายในมาดู จะได้ทำให้รู้ว่าภายในร่างกายของเรามีอะไรบ้าง หรืออาจจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็ได้ อย่ากลัว มันคือความจริงที่อยู่ในร่างกายของเรา
การฝึกเช่นนี้ ไม่มีจุดสิ้นสุด เราควรฝึกบ่อยๆ จะทำให้จิตใจสงบสุขเพราะยอมรับความจริงที่มีอยู่ ที่เป็นอยู่ได้ หากเราเห็นภาพความจริงในร่างกายเราชัดเจนมากแล้ว เราจะคลายความยึดมั่นในตัวตน เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราไม่หลงรูป เวลาที่เราคบหาดูใจกับใครก็ตาม เราจะไม่หลงเพียงแค่รูปร่างหน้าตาของเขา และมองทะลุว่านิสัยของเขาเป็นคนเช่นไร ทำให้ไม่เจ็บปวดจากรักที่สมหวังอีกต่อไป
การฝึกสมาธิแบบเดินเคลื่อนไหว
ผู้เขียนไม่อยากใช้คำว่าเดินจงกรม เพราะผู้เขียนก็ไม่เคยฝึกการเดินจงกรมถูกต้องเช่นกัน แต่เคยฝึกการเดินอย่างมีสมาธิ หรือเคลื่อนไหวโดยจิตที่มีสมาธิ ซึ่งอาจเพิ่มเติมการเดินแกว่งมือไปด้วย เป็นการทำให้กระฉับกระเฉงมากขึ้น การเดินอย่างมีสมาธิ การฝึกเดินอย่างมีสมาธิ มีหลักง่ายๆ ดังนี้
– เดินอย่าเร็ว ไม่ใช่เฉพาะแต่การเดิน แต่การฝึกอะไรก็แล้วแต่ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ควรรีบเร่ง การรีบเดินอาจทำให้สะดุดล้มได้ และไม่รู้จะรีบไปทำไม อย่าลืมว่านี่คือการฝึกจิต โดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือเท่านั้น เพราะร่างกายผูกติดกับจิตใจแยกกันไม่ติด จึงจำต้องฝึกกายไปด้วย แต่จำไว้ว่า เราเจ็บปวดที่จิตใจ โดยเฉพาะการไม่สมหวังในรัก เป็นการเจ็บปวดมากกว่าโดนมีดกรีด เพราะใจถูกทำร้ายโดยตรง ดังนั้นต้องแก้ที่ใจถึงจะหายขาด
– ก้าวเท้าอย่างมีสติ เอาสติไปจับเวลาก้าวเท้า หากแกว่งมือไปด้วย ก็เอาสติไปจับที่มือเวลาแกว่ง ค่อยๆ รู้เวลาเดิน เวลายกเท้า เวลาเท้าแตะพื้น เวลาร่างกายขยับ ลองเดินช้าๆ กลับไปกลับมาสัก 10 รอบ ระยะทางก็แล้วแต่สะดวก หากเดินในห้องก็ไม่เกิน 4 เมตร ส่วนหากเดินที่สวนสาธารณะ จะเดินเป็นระยะทางยาวๆ สัก 10 – 15 เมตรก็ได้
– ควรจะเดินกลับไปกลับมาจะดีกว่าเดินยาวๆ เป็นระยะหลายกิโลเมตร เพราะว่า เรากำลังฝึกสติ การเดินยาวๆ จะคล้ายกับการออกกำลังทางกายมากกว่าการฝึกจิตหรือฝึกสติ
– เวลาฝึกหายใจยาวๆ ไปด้วยก็ได้ อย่าเครียด บางท่านที่เคยฝึกสมาธิมาก่อน อาจเอาจิตไปจับไว้ที่ฐานใดๆ ฐานหนึ่งในร่างกาย หรือรักษาการนึกคิดแบบกสิณ หรือหายใจแบบอาณาปานสติไปด้วย ซึ่งอาจทำควบคู่ไปด้วยก็ได้ แต่การเคลื่อนไหว จะทำให้รักษาสมาธิเหล่านี้ หรือฝึกสมาธิเหล่านี้ยากมาก ทางที่ดีควรมาฝึกท่านั่งดีกว่า
– การเดินควรเน้นการรู้ตัวขณะเคลื่อนไหวของร่างกายจะดีที่สุด จะทำให้เรารู้และสัมผัสร่างกายได้ และระหว่างนั้นความคิดของเราจะผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ให้ปล่อยมันทิ้งซะ จินตนาการว่า ความคิดโผล่ขึ้นมา ให้สลัดมันตกทิ้งข้างทางทันที อย่าเก็บไว้
การฝึกสมาธิแบบเดินเคลื่อนไหว มีไว้สำหรับผ่อนคลายและสนับสนุนสมาธิแบบอื่นๆ ไม่ควรทำแต่สมาธิแบบการเดินเคลื่อนไหวแต่อย่างเดียว
สมาธิทางลัด
ผู้เขียนไม่รู้จะตั้งชื่อสมาธิแบบนี้อย่างไรดี สมาธิแบบนี้ บรรดาผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสมาธิจะรู้จักดี เป็นคล้ายๆ กับการจับอารมณ์ตอนเป็นสมาธิเลย คือไม่ต้องเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้น ซึ่งครูบาอาจารย์ด้านสมาธิท่านจะทราบดีและจะทำได้จนชำนาญ ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ จึงเอามานำเสนอไว้ แต่ผู้เขียนจะเริ่มจากการเอาความง่วงนอนมาเป็นอารมณ์ เพราะหากคนเราง่วงนอนประสาทสัมผัสของคนเราจะช้าลง เพราะร่างกายจะเตรียมตัวปิดประตูแห่งการรับรู้เรื่องราวภายนอกอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสที่ดีมาก
หากเราฉวยโอกาสนี้ได้ ทำให้จะหลับแต่ก็ไม่หลับ เป็นการกึ่งหลับกึ่งไม่หลับ จะเท่ากับเราพาจิตของเราตกอยู่ในภวังค์ครึ่งหนึ่งเลย ถ้าพูดเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ก็คือสมองของเราจะอยู่ใน คลื่นอัลฟ่า (Alpha brainwave) สมองจะส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหมุนรอบประมาณ 7 – 14 รอบต่อวินาที (Hz) จากเดิมในภาวะปกติที่เราตื่นตัวเต็มที่ สมองของเราเป็น คลื่นเบต้า (Beta brainwave) ซึ่งสมองจะส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหมุนรอบสมอง ราวๆ 14 – 21 รอบต่อวินาที (Hz) ซึ่งคลื่นเบต้านี้เป็นคลื่นที่สมองวุ่นวาย ส่วนคลื่นอัลฟ่าเป็นคลื่นสมองยามสงบ
ส่วนถ้าเป็นทางพุทธศาสนา ผู้เขียนไม่มั่นใจว่าเปรียบเทียบถูกหรือไม่ แต่น่าจะเป็นการที่สมาธิตั้งต้นที่ อุปจารสมาธิ เลยทีเดียว ซึ่งหากควบคุมจิตใจได้ ก็จะทำให้เข้าสู่สภาวะที่สมองปล่อย คลื่นเธต้า (Theta brainwaves) คลื่นความถี่ของสมองจะเหลือเพียง 4 – 11 รอบต่อวินาที (Hz) หรือเป็น อัปปนาสมาธิ พร้อมที่จะเข้าสู่สภาวะ “ฌาน” ได้ไม่ยาก ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น ช่วงนี้คลื่นสมองจะทำงานช้าลงมาก เรียกได้ว่า ไม่ใช่สภาวะปกติของคนที่จะประกอบกิจการงานตามปกติ ทำให้มีความสุขสบาย ลืมความทุกข์ ความกังวลจนหมดสิ้น ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นภาวะ “ฌาน” ในพุทธศาสนานั่นเอง
การฝึกสมาธิทางลัดมีดังนี้
– ควรอาศัยตอนที่ร่างกายอยากหลับนอนมาช่วย ควรเตรียมตัวนอนหลับเหมือนปกติ คือ อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด กินอาหารให้เรียบร้อย ฯลฯ คือทำยังไงก็ได้ก่อนที่เราจะนอนหลับอย่างสบายใจ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน
– ควรตั้งใจให้ดีว่าเราจะนั่งสมาธิ ไม่ใช่หลับจริงๆ เพราะหากไม่ตั้งใจให้ดี เราอาจหลับได้ทุกเมื่อ วิธีนี้เสี่ยงต่อการนอนหลับไปเลยมากถึงมากที่สุด บางท่านพยายาม 10 ครั้ง อาจสำเร็จเพียงครั้งเดียวก็ได้ และคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ควรฝึกสมาธิวิธีอื่นๆ หรืออกกำลังกายให้นอนหลับได้ตามปกติเสียก่อน เพราะวิธีนี้เป็นวิธีลัด จะเอาอารมณ์ก่อนหลับนิดเดียวมาส่งให้จิตอยู่ในสมาธิ
– อีกประการหนึ่งที่สามารถเลือกทำได้คือ หากไม่ต้องการทำก่อนนอน เราจะสามารถทำหลังตื่นนอนใหม่ๆ ก็ได้ เพราะหลังตื่นนอนใหม่ๆ เรามักจะงัวเงีย บางคนหากยังนอนไม่เต็มอิ่มก็ยังอยากจะนอนอีกแต่นอนไม่ได้แล้ว หรือบางคนยังมีอาการกึ่งหลับกึ่งตื่นอยู่ ซึ่งเราอาจใช้ช่วงเวลานี้มาฝึกก็ได้เหมือนกัน ซึ่งช่วงเวลาทั้งก่อนนอนและหลังนอน นับเป็นช่วงเวลาดีที่สุดในการนั่งสมาธิวิธีนี้ก็ว่าได้ ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ ที่มีอาการเหนื่อยล้า หรือง่วงนอนก็สามารถนั่งสมาธิเช่นนี้ได้เช่นกัน
– เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว รู้สึกง่วง หรือรู้สึกล้าเต็มที่แล้ว ให้นั่งขัดสมาธิ เมื่อฝึกใหม่ๆ อย่านั่งพิงอะไรทั้งนั้น เพราะจะเป็นการนั่งหลับไปเสีย หากมีอาการกังวลจะปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่ต้องห่วง วิธีนี้สมองเราจะเฉื่อยลงมากจนไม่รู้สึกเจ็บปวด เราจะนั่งได้นานหลายชั่วโมง และจิตเราจะนิ่งสงบลงจากปกติมาก
– นั่งหลับตาทั้งๆ ที่มีความรู้สึกง่วงนอนอยู่ ให้ตั้งสติดีๆ อย่าให้หลับลงอย่างเด็ดขาด นั่งหลังตรง คอตรง แรกๆ อาจหายใจยาวๆ ลึกๆ เป็นการเรียกสติตัวเอง แต่เมื่อจิตสงบนิ่งดีแล้ว เราจะรู้ตัวดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา คือเราจะมีสติทุกอย่าง แต่จิตเราจะนิ่งมาก อาจมีภาพความสับสนในความคิดโผล่ขึ้นมา แต่จะไม่มากมายเท่ากับเวลาปกติ
– เมื่อเกิดสภาวะนี้ขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก เราอาจนั่งหลายชั่วโมง แต่รู้สึกว่านั่งไม่นาน จิตเราจะนิ่งมากด้วย เหมือนเรากำลังหลับอยู่ แต่เรามีสติทุกอย่าง ได้ยินทุกเสียงที่เกิดขึ้น และเราสามารถขยับตัวได้ด้วย เป็นการขยับตัวในสภาวะที่คล้ายๆ จะหลับนั่นเอง ซึ่งถ้าหลับไปจริงๆ ก็จะขยับตัวไม่ได้
– สมาธิทางลัดเช่นนี้ จิตเราจะนิ่งขึ้นหรือไม่ หรือไม่คิดอะไรเลยหรือไม่ หรือจะเกิดภาพนิมิตต่อเช่นไร ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของเราแล้ว ช่วงแรกๆ เราอาจรำคาญที่จะหลับไปเลยก็ไม่หลับ และรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งจริงแล้วๆ หากจิตเรานิ่งสงบ แม้มีสติรู้ตัวอยู่ แต่เราจะไม่รู้สึกเหนื่อย และเราจะไม่รำคาญต่อสิ่งภายนอกที่เรารู้สึกได้ด้วย หากเราเข้าสมาธิได้แล้ว ส่วนเรื่องอกหัก รับรองลืมไปเลยชั่วคราวอย่างแน่นอน
หลังจากที่ได้ฝึกสมาธิไปแล้ว เรามาดูประโยชน์ของการฝึกสมาธิแบบรวมๆ รวบยอดกันดีกว่า มีดังนี้
1. ทำให้มีบุคลิกหนักแน่น เข้มแข็ง ใจแข็ง
2. ได้ความสามารถพิเศษเหนือสามัญชน (ลองไปศึกษาเพิ่มเติมดูนะครับ พระท่านเรียกว่า “อภิญญา”)
3. จิตใจหายฟุ้งซ่าน
4. ข่มความเศร้าหมองได้ชั่วคราว (แก้อกหักได้นั่นเอง)
5. ข่มความเจ็บปวดทางกายได้ เห็นพวกทรงเจ้าเอาเหล็กแหลมทิ่มร่างกายตัวเองไหมครับ นั่นเป็นผลจากจิตมีสมาธิในระดับหนึ่ง
6. ใจเย็น มีความสงบ ไม่ฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธง่าย
7. มีความสุภาพ อ่อนโยน นิ่มนวล ท่าทีมีความเมตตากรุณา เห็นพระที่ท่านปฏิบัติสมาธิ หรือนักบวชที่จิตมีสมาธิแน่วแน่ไหมครับ ท่านจะดูเป็นคนใจดี น่าเพิ่งได้
8. จิตใจสดใส สดชื่น เบิกบาน
9. ดูมีสง่า องอาจ น่าเกรงขาม
10. มีความมั่นคงทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่ามีอีคิวสูงนั่นเองครับ ข้อนี้สำคัญมากในการแก้ปัญหาอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นในชีวิต
11. กระฉับกระเฉง ไม่เซื่องซึม คนที่ดูอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ไม่กระตือรือร้น มักเป็นพวกสมาธิสั้นครับ คนที่มีสมาธิดีๆ จะมีจิตใจที่พร้อมเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ได้
12. สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ฉับไว
13. มีจิตใจสบาย ไม่เครียด มีความสุข ผ่องใส
14. เป็นคนไม่ขี้กลัว หรือหายหวาดกลัวได้ง่าย หายกระวนกระวายโดยไม่จำเป็นได้
15. นอนหลับง่าย ไม่ฝันร้าย มักเป็นคนคุมตัวเองได้ สั่งตัวเองได้
16. กระฉับกระเฉง ว่องไว รู้จักเลือกและตัดสินใจเหมาะแก่สถานการณ์
17. ดูอ่อนวัย ไม่ดูแก่เกินวัย
18. มีความแน่วแน่ในจุดหมาย มีความตั้งใจ มีความใฝ่ฝันที่จะประสบความสำเร็จสูง
19. มีสติสัมปชัญญะดี รู้เท่าทันเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ และสามารถยับยั้งชั่งใจได้ดีเยี่ยม
20. ทำงานได้ดี ไม่พลาดง่าย หรือ ทำกิจกรรมอื่นๆ สำเร็จด้วยดี
21. เรียนหนังสือเก่ง สมองดี มีความจำดีเยี่ยม มีความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ดี
22. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี การฝึกสมาธิบางประเภท เช่นการควบคุมลมหายใจ จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงดี เป็นการออกกำลังกายภายในอีกวิธีหนึ่ง
23. รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคเครียด โรคท้องผูก โรคความดันโลหิต โรคหืด หรือโรคจิตบางประเภท
24. ช่วยควบคุมความอยากได้ ตามความต้องการ ไม่ว่าจะอยากอะไรก็แล้วแต่
25. ช่วยควบคุมน้ำหนักที่มากเกิน จนทำให้เป็นโรคอ้วน หรือโรคร้ายอื่นๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง หัวใจ
และประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
ก่อนจะจบบทนี้ สมาธิดังที่ได้แนะนำไปแล้วนั้น แม้จะแก้ปัญหาการอกหักได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเป็นการแก้ปัญหาชั่วอย่างไม่ถาวร เป็นการแก้ความปวดร้าวเป็นครั้งคราวเฉยๆ เปรียบเหมือนการกินยารักษาอาการป่วยของโรค แต่ตราบใดที่ร่างกายยังอ่อนแออยู่ โรคร้ายก็พร้อมที่จะกลับมาคุกคามได้ทุกเมื่อ ดังนั้นผู้เขียนขอให้ท่านฝึกสมาธิเพื่อให้ใจสงบ เพื่อให้ใจแข็งแกร่งเสียก่อน และวิธีฝึกสมาธิในแบบต่างๆ ท่านสามารถทำได้ตามแต่ความชอบของแต่ละบุคคล อาจฝึกทำสมาธิตามทุกวิธีเลยก็ได้ หรืออาจเลือกทำก็ได้ ไม่ต้องเรียงลำดับครับ ชอบและเหมาะสมกับวิธีไหนก็สามารถทำได้เลย และเชิญดูบทต่อๆ ไปเลย ตั้งแต่บทหน้าเป็นต้นไป หากท่านทำได้ ท่านจะไม่อกหัก หรือไม่เจ็บปวดจากความรักตลอดกาล
เป็นบทความทีให้สติมากๆ ค่ะ ขอนำไปแบ่งปันที่ http://www.facebook.com/borkboon นะคะ อนุโมทนาบุญค่ะ
ด้วยความยินดีครับ
ขอบคุณสำหรับบทความมากค่ะ ตอนนี้กำลังเจอประสบการณ์ตรง (อกหัก) อยู่เลยค่ะ
ถ้าเกิดปฎิบัติแล้วเกิดคำถาม อยากขอคำแนะนำเพิ่มเติมจะได้มั๊ยคะ ติดต่อได้ทางไหนคะ
ขอให้จิดต่อมาที่นี่ จะตอบให้ทุกคำถามที่อยากรู้
และเพื่อเป็นธรรมทานต่อผู้อื่นด้วย