ดังกล่าวไปแล้วว่าผมมีพุทธวิธีชนะความทุกข์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีอานุภาพเหมือนอริยสัจ 4 แต่ยกมาอธิบายตรงนี้ก็เพื่อให้คุณจำได้ง่ายๆ นำไปใช้ได้แบบทันใจ ซึ่งเป็นหลักที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เรียกขานว่าเป็น ธรรมะ 4 เกลอ ที่สามารถเอาชนะความทุกข์ได้ทุกเมื่อ ตามต้องการ ขอให้ระลึกถึงหลักนี้เสมอเป็นพอ ซึ่ง 4 เกลอ ที่ว่านี้ก็ได้แก่ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และ สมาธิ
เมื่อเราเกิดความทุกข์ขึ้น ผมได้เน้นย้ำแล้วว่า เราต้องรีบเรียก สติ ให้มาประจำการให้เร็วที่สุด สติ จึงเป็นตัวแรกที่เราต้องมี เราต้องฝึกฝนและท่องไว้เสมอ เมื่อเกิดปัญหาใดๆ หรือเกิดเรื่องชนิดไหน รีบพูดกับตัวเองทันทีว่า สติ สติ สติ เพื่อกระตุ้นเตือนตัวเองให้รีบนำสติออกมารับมือ
เมื่อเรียกสติได้มา เราก็ต้องรีบท่องคำต่อไปว่า ปัญญา ปัญญา ปัญญา ซึ่งปัญญานี้ก็หมายถึง การคิดอย่างถูกต้อง การทำอย่างมีหลักการอันเหมาะสม เมื่อเราตั้งสติได้ ก็ต้องรีบเรียกปัญญามาช่วยหาทางออก ให้ปัญญาช่วยนึกถึงหลักธรรม แนวทางแห่งธรรม ที่จะช่วยเราให้หลุดพ้นจากปัญหาหรือตัวทุกข์ในปัจจุบันได้
ทีนี้ เมื่อมีสติและปัญญาแล้ว ขั้นตอนระหว่างที่ปัญญากำลังทำหน้าที่เอาความรู้มาจัดการความทุกข์นั้น จะเป็นการทำงานของ สัมปชัญญะ ที่แปลว่า การรู้สึกตัวพร้อมสำหรับแต่ละกรณี กล่าวคือเวลานั้น ปัญญาจะคัดเลือกหาทางออก หาแนวทางที่เหมาะสำหรับการจัดการต่อความทุกข์นั้นๆ หาแนวทางที่เฉพาะสำหรับกรณีนั้นๆ ออกมาให้ได้
และหากพลังสัมปชัญญะของเรามีน้อยหรือเกิดการสั่นคลอน เช่น มีสิ่งเร้ารบกวนมาก หรือมีสิ่งกวนใจปรากฏขึ้นมาอีก เราก็ต้องเรียกเอามา สมาธิ ขึ้นมาช่วยเสริมแรงแห่งสัมปชัญญะ ซึ่งก็คือการทำจิตให้จดจ่ออยู่กับกระบวนการแก้ปัญหา จัดการหาทางออกให้กับความทุกข์ที่ว่านั่นเอง
4 สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ ที่หากเรามีติดตัวไว้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับจิตใจและชีวิตได้ทุกชนิด เราจึงต้องบอกตัวเองเสมอยามเกิดเรื่องให้ต้องคิด ยามเกิดปัญหาให้ต้องแก้ หรือเกิดความทุกข์มาตามรังควาน เราต้องเรียก สติ สติ สติ มาตั้งหลัก ก่อนจะเรียก ปัญญา ปัญญา ปัญญา มาช่วยรับมือหาทางออก ปล่อยให้มันเกิด สัมปชัญญะ ค่อยๆ หาทางออกอันเหมาะควร แต่หากพลังยังไม่พอ ก็ต้องทำจิตให้เป็น สมาธิ
แน่นอนครับว่า 4 สิ่งนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนต่อเนื่องถึงจะได้ผลแบบเต็มร้อย ในคราวแรกๆ เมื่อเราต้องเจอกับทุกข์ อาจตั้งสติยากบ้าง อาจเรียกปัญญามาได้น้อยบ้าง (ซึ่งบางส่วนก็เพราะ ตัวเราเองไม่ได้มีการเพิ่มพูนสิ่งที่เป็นปัญญามาเตรียมไว้ในสมอง) บางครั้งสมาธิก็ทำไม่ค่อยได้บ้าง เราจึงต้องหมั่นฝึกฝน
การฝึกสติ การฝึกสมาธินั้น หลายคนมองเป็นเรื่องธรรมะที่ไกลตัว เพราะเอาแต่คิดว่า ผลดีแห่งการฝึกสิ่งเหล่านั้นก็คือ การได้บรรลุมรรคผล การได้อานิสงส์ข้ามภพชาติ หรือเป็นการฝึกของพุทธบริษัทที่อยากได้ญาณบารมี แต่แท้จริงแล้ว อานิสงส์ของจริงของการฝึกสติและสมาธิ ไม่ใช่ชาติหน้า แต่คือชาตินี้ เพราะยิ่งฝึกเราจะยิ่งมีสติที่แข็งแกร่ง เรียกสติมาประจำการได้ง่าย สร้างสมาธิให้เกิดในใจได้ง่าย ทำให้เรามีพลังในการจดจ่อทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นกองหน้าสำคัญสำหรับรับมือกับความทุกข์อีกต่างหาก
โปรดมองให้ถูกครับ การฝึกสติ ฝึกสมาธิต่างๆ ไม่ใช่เพื่อเรื่องไกลตัวหรือเรื่องภพหน้าเลย แต่มันเป็นการฝึกเพื่อทำให้ตัวเราในวันพรุ่งนี้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น มีความเก่งกาจมากขึ้น มีความสามารถในการรับมือกับทุกสถานการณ์ของชีวิตมากขึ้น
ใส่ความเห็น