คนส่วนใหญ่เมื่อพบเจอกับความทุกข์ ก็อาจพร่ำบอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร ไม่นานมันก็จะผ่านไป” แล้วก็นั่งเฉยๆ โดยหวังว่าความทุกข์จะผ่านเราไปจริงๆ ซึ่งการทำเช่นนั้นอย่างถูกต้องตามหลักนั้น จะสามารถช่วยคุณได้จริงครับ แต่ทว่าคนส่วนใหญ่กลับใช้วิธีนี้อย่างไม่ถูกต้องสักเท่าไร ทำให้ปัญหาแทนที่จะบรรเทากลับกลายเป็นการสะสมพลังให้มันมีอำนาจมากดดันเราให้ทุกข์มากกว่าเดิม
ดีไม่ดีปัญหาเล็กๆ ที่เราน่าจะแก้ได้ในตอนเริ่มแรก อาจกลายเป็นปัญหาลุกลามยากจะแก้ไขได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องจาก “ปากเราก็บอกว่าไม่คิดมาก ปล่อยมันไป แต่ใจกลับคิดวนเวียนจนร้อนเป็นไฟ” กล่าวคือเราไม่ได้ทำการปล่อยวาง ทิ้งปัญหาอย่างแท้จริงนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ความทุกข์ในครอบครัว เมื่อสามีภรรยาใช้ชีวิตร่วมกัน แล้วต่างคนต่างก็อาจเผลอสร้างความทุกข์ให้อีกฝ่ายทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา ซึ่งหากทั้งคู่เรียนรู้ที่จะใช้วิธีนิ่งเฉย “เพื่อเข้าใจ ปล่อยวาง” มันก็ย่อมทำให้ปัญหาไม่ลุกลาม แต่หากเป็นการนิ่งเฉย “เพื่อเก็บกด” มันก็จะกลายเป็นความทุกข์ที่รอวันปะทุ และนานๆ เข้าความทุกข์ในใจของทั้งสองคนก็ย่อมเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ
ความทุกข์ลักษณะนี้แหละ ที่เราควรจัดการกำจัดมันออกไปจากชีวิต
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสับสน เพราะเคยได้ยินมาว่า ศาสนาพุทธสอนให้คนรู้จักปล่อยวางไม่ใช่หรือ ซึ่งจริงครับ ในทางพุทธศาสนานั้นได้มีหลัก อุเบกขา หรือ การวางเฉย เป็นหนึ่งในทางบรรเทาความทุกข์ แต่ทว่าการวางเฉยนั้น ต้องเป็นการวางเฉยที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจ หาใช่การวางเฉยแบบฝืนทำเป็นไม่ดูดาย
เช่นกรณีข้างต้น เมื่อภรรยาหรือสามีของเราเกิดอารมณ์เสียขึ้นมา แล้วก็พูดจารุนแรงไม่เข้าหู หากเรานิ่งเฉย ด้วยความเข้าใจว่า “อ๋อ เขาอารมณ์เสียมาจากข้างนอกน่ะ” หรือ “เขาก็เป็นคนแบบนี้เอง ชอบอารมณ์เสียง่ายประจำ” คิดแบบเข้าใจเหตุและผล แล้วเราค่อยนิ่ง ตามด้วยการคิดแนวทางเพื่อจัดการหาทางออก แบบนั้นถึงจะเรียกว่าเป็นการบรรเทาความทุกข์ เพราะเราจะทุกข์ร้อนน้อยลง หรือหากเข้าใจอย่างจริงจังแล้ว เราอาจไม่ทุกข์เลยก็ได้ เพราะเรารู้ว่านี่เป็นเรื่อง “เช่นนั้นเอง”
แต่หากเรานิ่ง แต่ในใจเราคิดว่าเป็นการ “นิ่งแบบเก็บกดความไม่พอใจ” นั่นย่อมไม่ใช่อุเบกขา แต่เป็นการอดทน อดกลั้น กดความรู้สึกตนเอง โดยที่ใจภายในก็ไม่ได้เข้าใจเหตุผลหรือไม่ก็รู้สึกค้านในใจตลอด… นิ่งแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้หลายคนเป็นดั่งเช่นภูเขาไฟที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเวลา
นับแต่นี้ไปเราจึงควรเข้าใจแนวทางการวางเฉยให้ถูกต้อง ไม่ใช่นิ่งเฉยแบบขอไปทีหรือนิ่งแบบอันธพาล ประเภทว่านิ่งก็จริง แต่ในใจคิดตลอดว่า “ไว้คราวหน้าก่อนเถอะ จะต้องเจอการเอาคืนอย่างสาสม” แบบนี้มีแต่จะทำให้เกิดเรื่องที่เลวร้ายมากขึ้นไปอีก
โปรดจำไว้นะครับ หากจะทำให้ปัญหาอ่อนพลังลง โดยใช้เวลาเป็นเครื่องบรรเทาพลังของปัญหาและเพิ่มพลังให้ตนเอง เราควรคิดให้ถูก มีทัศนคติที่ถูกต้องเป็นทุนตั้งต้น นั่นคือ การหันมาคิดบวก เช่น “ไม่มีปัญหาใดแก้ไขไม่ได้ เพียงแต่นาทีนี้เราอาจยังไม่พร้อม เราอาจต้องการเวลาหรือที่ปรึกษามาช่วยอีกสักหน่อยเท่านั้นเอง” เห็นไหมครับ เราจะไม่มานั่งเสียเวลาด่าโน่นนี่หรือเก็บกดตนเอง แต่เราจะใช้เวลาเหล่านั้นสร้างพลังคิดเชิงบวกให้เกิดขึ้น
การแทนที่ทัศนคติเชิงลบด้วยพลังเชิงบวก คือแนวความคิดของทางด้านจิตวิทยาตะวันตก ซึ่งมีไว้ใช้รับมือกับปัญหาโดยเฉพาะ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของพุทธที่เน้นให้คนคิดดีเพื่อเราจะได้รับผลที่ดีตอบแทน ตามด้วยการรู้จักใช้สติทุกครั้งที่เกิดเรื่องสำคัญๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม
ดังนั้นการทิ้งปัญหาไว้เฉยๆ โดยที่เราไม่ทำอะไร มันย่อมไม่สามารถทำให้ปัญหาสลายตัวไปได้ โดยเฉพาะการคิดลบไปโหมความร้ายกาจของปัญหานั้น ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความทุกข์มากกันไปใหญ่ แต่หากเราใช้วิธี ทิ้งปัญหาเป็นการชั่วคราว และใช้เวลามาช่วยจัดการอย่างมีสติพร้อมด้วยความคิดบวก เชื่อมั่นในตนเองว่าเราทำได้ การทำเช่นนั้นจึงจะทำให้ปัญหาหายไปได้ในที่สุด
ใส่ความเห็น