การที่คนเราไม่ควรกินเนื้อสัตว์นั้น ได้รับความเมตตาอธิบายตอบจากคำสอนของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งท่านได้แสดงทรรศนะเรื่องนี้ไว้ว่า
การไม่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นการกระทำเพื่อยึดเอาประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม เป็นการก้าวหน้าของสัมมาปฏิบัติอันหนึ่งซึ่งได้ผลอานิสงส์มากแต่ว่าลงทุนทางฝ่ายวัตถุน้อยที่สุด แต่ได้ผลมากอยู่ทีใจซึ่งขอแยกอธิบายเป็นทั้งผลทางโลกและทางธรรมดังต่อไปนี้
ผลทางฝ่ายโลก
1. ผักนั้นมีคุณค่าหลายอย่าง
ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็เราก็พอจะทราบว่าผักนั้นมีคุณค่าทางอาหารมากมาย มีกากใยที่ทำให้ขับถ่ายง่าย มีวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิดที่พบมากกว่าในเนื้อสัตว์ ผู้ที่รับประทานผักมากกว่าเนื้อก็มีข้อมูลมากมายที่พิสูจน์ว่าทำให้มีโรคน้อย มีกำลังแข็งแรง และทำให้จิตสงบมากกว่าการกินเนื้อ คือมีความต้องการทางเพศ ความต้องการทางวัตถุ ความโกรธ และความมัวเมาน้อยกว่าผู้ที่รับประทานเนื้ออยู่เป็นอันมาก
2. ผลทางเศรษฐกิจ
ราคาผักกับเนื้อนั้นมีความแตกต่างกันพอสมควร แม้ในปัจจุบันพืชผักจะมีราคาที่สูงขึ้นมากก็ตามแต่เมื่อเทียบกันต่อกิโลกรัมแล้ว เนื้อสัตว์ก็ถือว่าแพงกว่า ซึ่งของดีนั้นไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเสมอไป แต่ของแพงที่เป็นอาหารบางอย่างนั้นอาจจำเป็นสำหรับคนที่มีความทะเยอทะยานและสติปัญญาทึบ ซึ่งคนฉลาดนั้นเขาไม่ทำกัน เพราะอาหารที่เลวๆ ที่คนรวยเชื่อว่าเป็น “อาหารผัก” ส่วนใหญ่นั้น แทบจะไม่มีส่วนทำให้คนโง่ลงได้เลย
3. ธรรมชาติแท้ๆ ต้องการให้เรากินผัก
ซึ่งแง่มุมนี้ ท่านพุทธทาสฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ธรรมชาติสร้างสรรค์ชีวิตพวกเราให้มีความรักชีวิตของตนเอง เราก็ควรจะมีความรู้สึกเห็นใจสัตว์ที่มีล้วนมีความรู้สึกเดียวกัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความยุติธรรมเสียเลย หากมียักษ์ใหญ่ๆ มาจับมนุษย์กินเป็นอาหารเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนที่เรามองสัตว์เดรัจฉาน หมู ไก่ หรือวัว ก็ต้องรู้สึกอย่างเดียวกัน
ธรรมชาตินั้นพืชผักผลไม้จะมีมากขึ้นทุกๆ ปีพอให้มนุษย์ได้บริโภคได้เพียงพอเสมอซึ่งแปรผันตรงกับจำนวนประชากรของมนุษย์ แต่ประชากรของสัตว์นั้นมีน้อยลงทุกปี ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะอยากให้ลองเปรียบเทียบดูว่า ขนาดพื้นที่ 1 ไร่เราสามารถปลูกพืชพันธ์ที่เป็นอาหารของมนุษย์ได้มากมาย ปีหนึ่งปลูกได้หลายๆ ครั้งและสามารถปลูกได้ตลอดไป สามารถเลี้ยงคนได้หลายสิบคน
ในขณะเดียวกันพื้นที่เพียงหนึ่งไร่นั้นอาจจะไม่พอสำหรับการเลี้ยงวัว 1 ตัวเพียงเพื่อเอาเนื้อหนังมันมาทำเป็นอาหารได้ไม่กี่สิบจาน แม้แต่จำนวนปลาในมหาสมุทรเองก็มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าบางชนิดมีจำนวนที่ลดลง และที่สำคัญก็คือคุณค่าทางอาหารนั้นไม่มีความแตกต่างกันมากจนเกินไปนัก
ผลในฝ่ายธรรม
1. ผู้ที่กินผักนั้นเป็นผู้ที่หาเลี้ยงตนเองได้ง่ายขึ้น
เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า ผักนั้นหากินได้ง่ายกว่าเนื้อสัตว์โดยเฉพาะในหมู่คนยากจน ล้วนแต่พากันปรุงอาหารด้วยมีผักเป็นพื้น และเมื่อมีการรับประทานผักกันอย่างเป็นประจำแล้วก็จะไม่มีเวลาที่ต้องกระวนกระวายเพราะรสชาติอาหารไม่ถูกปากเลย ซึ่งผิดกับคนที่รับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำจะมีความยึดติดในรสชาติอาหารมากกว่า
เมื่อมีความยึดติดในรสอาหารมากกว่าก็ย่อมมักที่จะ “เสาะแสวงหา” เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารให้ถูกปากไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมอันจะเป็นการส่งเสริมการละเมิดศีลข้อที่ 1 อีก ที่สำคัญอีกประการก็คืออาหารที่เป็นผักนั้นมีวิธีการปรุงที่ง่ายกว่าเนื้อสัตว์ บางอย่างแทบไม่ต้องติดไฟทำก็สามารถนำมารับประทานได้ ท่านพุทธทาสถึงกับกล่าวไว้เป็นคำคมว่า “คนกินเนื้อเพราะแพ้รสตัณหา กินเพราะตัณหาไม่ใช่เพื่อให้เลี้ยงง่าย”
นอกจากนั้นการปรุงอาหารด้วยผักเพื่อที่จะนำมาทำบุญถวายพระภิกษุหรือผู้ทรงศีลนั้นยังเป็นการสร้างความสบายใจให้กับผู้ที่จะนำอาหารมาถวายอีกด้วยเพราะหากจะต้องปรุงอาหารด้วยเนื้อสัตว์ บางคนอาจต้องฝืนใจทำอาหารเพราะทราบดีว่าต้องฆ่าสัตว์เพื่อเป็นการเลี้ยงพระอันจะไม่เกิดผลบุญอันใดด้วย หากจะมีก็อาจได้เป็นบุญเพียงส่วนน้อย
2. การกินผักเป็นการฝึกในส่วนของสัจธรรม
ตามหลักของความจริงแล้วคนเราที่ยังห่างจากพระธรรมเพราะมีนิสัยเหลวไหลต่อตนเอง การถือกินอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ นั้นเรียกได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดที่ดีมีความเพลิดเพลินและมีความบริสุทธิ์สะอาดได้ผลสูงเกินกว่าคนที่กินแต่เนื้อจะคาดถึง
การฝึกรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์เรียกได้ว่าเป็นการ “ฝึกใจด้วยอาหาร” ที่ดี การที่เรารับประทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เลยเราอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากแต่ที่เห็นกันว่ายากก็เพราะ ไม่ได้มีการฝึกฝนจึงว่ายาก จึงจำเป็นต้องฝึกหัดรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ให้เป็นประจำจึงจะได้ผลเร็ว
3. การกินผักเป็นการฝึกในการข่มใจตนเอง
หากจะว่าเป็นภาษาพระหรือภาษาบาลีก็เรียกได้ว่าเป็น “ทมธรรม” (อ่านว่า ทะมะ) เรื่องนี้มีตัวอย่างของผู้ที่ไม่รู้จักข่มใจในรสชาติอาหารซึ่ง ท่านพุทธทาสฯ ได้เคยเล่าไว้ว่า
“ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่ในตำบลป่าดอนและเห็นผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านที่อยู่บนพื้นที่สูง อุตส่าห์หาบอาหารที่เป็นผักลงมาเพื่อแลกเอาปลาแห้ง ๆทางบ้านแถบริมทะเลขึ้นไปรับประทานกัน แม้จะเสียเวลาเป็นวันๆ และทั้งที่ภายในหมู่บ้านของพวกเขาเองแห่งนั้นก็มีอาหารอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผัก เผือกมัน มะพร้าว และฟักมากมาย และรับรองได้ว่าเป็นของสดรสดี สามารถนำมาบำรุงร่างกายได้มากกว่าปลาแห้งๆ ที่ปล่อยไว้นานจนราจับเป็นไหนๆ”
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การกินเนื้อนั้นทำให้มนุษย์เรามีจิตใจยึดติดในรสชาติมากกว่าที่คาดคิด แม้จะไกลอย่างไรลำบากแค่ไหนก็ไม่เป็นอุปสรรคในการสรรหามารับประทาน และการที่เราไม่รู้จักข่มจิตใจเรื่องรสแห่งตัณหาเหล่านี้ก็ต้องเป็นทาสของความทุกข์และถอยหลังต่อการปฏิบัติธรรม ผู้ที่สามารถฝึกตนให้รู้จักข่มใจของตนเองไม่ให้แพ้กิเลสตัณหาใดๆ ได้ง่ายๆ ก็น่าจะใช้วิธีการรับประทานผักเพื่อเป็นการฝึกความอดทนข่มใจในรสชาติได้เช่นเดียวกัน
4. การรับประทานอาหารผักเป็นการฝึกส่วนสันโดษ
คำว่า “สันโดษ” ในที่นี้แปลความหมายได้ว่า “เป็นความพอใจเท่าที่มีเท่าที่ได้” ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติที่สูงขึ้นไปที่ทำได้ยาก เพราะแม้ในภิกษุที่เป็นปุถุชนเอง บางท่านก็ไม่อาจจะข่มใจทำได้ คือ รับอาหารที่เป็นเพียงผักและผลไม้มาแล้วก็เพื่อทิ้ง นี่เป็นตัวอย่างแห่งความไม่ถือสันโดษและความไม่ถ่อมตน หากได้ถือกินผักเป็นประจำก็จะเป็นการฝึกที่ดีในเรื่องสันโดษเลยทีเดียว
5. การรับประทานอาหารผักเป็นการฝึกด้านปัญญา
ปัญญา ในที่นี้หมายถึง ความรู้เท่าทันในดวงจิตของตนเองที่มักจะซัดส่ายไปมา คือพิจารณาว่าอาหารที่รับประทานนั้นเป็นเพียง “ของบริโภค” ไม่ใช่ผักใช่เนื้อหรือของคาวหวานและเป็นของกลางๆ ที่บริสุทธิ์ และการจะฝึกให้สามารถมีปัญญาพิจารณาเช่นนี้ได้ ก็ต้องอาศัยอาหารที่เป็นผักที่ไร้รสชาติให้ยึดติดเป็นตัวฝึกฝน เนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ทำให้เราหลงในรสแต่ผักทำให้ใจนั้นต้องยกเข้าไปหารสชาตินั่นเอง
ใส่ความเห็น