มังสวิรัติคืออะไร
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า “มังสวิรัติ” เอาไว้ว่าหมายถึง “การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ และเรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ซึ่งมีแต่พืชผักว่าเป็นอาหารมังสวิรัติ”
นิยามความหมายนี้ทำให้เราได้ทราบว่า มังสวิรัติคือการงดเว้นไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้นแต่จะรับประทานอาหารจำพวกพืชผักเป็นสำคัญ
อาหารเจ คืออะไร
ส่วนคำว่า “เจ” นั้นตามความหมายของพจนานุกรมฉบับเดียวกัน ได้อธิบายความหมายของคำว่า “เจ” เอาไว้ว่า “อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี”
ส่วนการกินเจตามความหมายดั้งเดิมก็คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงจากเนื้อสัตว์รวมทั้งผักบางชนิดด้วย ซึ่งผักที่ว่านี้มี 5 ประการได้แก่ กระเทียมกลีบใหญ่ หัวหอม กุยช่าย กระเทียมกลีบเล็ก (หลักเกี๋ย) และผักเฮงกื๋อ (ซึ่งไม่พบในประเทศไทย)
ดังนั้นผู้เขียนสรุปเอาความแตกต่างเกี่ยวกับทั้ง การรับประทานอาหารมังสวิรัติและเจ ได้ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะสามารถรับประทานพืชผักได้ ทุกชนิด แต่ ผู้ที่กินเจสามารถรับประทานผักได้ทุกชนิดยกเว้นแต่ ผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิดได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย หลักเกี๋ย และเฮงกื๋อ (บางแห่งถือก็รวมผักชีไว้)
- ผู้ที่ถือรับประทานมังสวิรัติจะไม่สามารถดื่มนมสดหรือนมข้นได้ เพราะถือว่าเป็นของสดของคาวที่มาจากเลือดเนื้อของสัตว์ แต่ผู้ที่กินเจสามารถดื่มน้ำนมสดหรือนมข้นได้ เพราะถือเอาตามสิกขาใน “พรหมชาลสูตร” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติในหมู่บรรพชิตฝ่ายมหายานที่มีข้อห้ามที่ห้ามบริโภคแต่เฉพาะปลาและเนื้อสัตว์ รวมถึงผักฉุน 5 ชนิด แต่ไม่มีข้อห้ามในการดื่มนมสดหรือนมข้น ซึ่งตรงกันข้ามกับ ผู้ที่ถือรับประทานอาหารเจจะรับประทาน “ไข่” ไม่ได้ เพราะถือเป็นการรับประทานเนื้อสัตว์โดยทางอ้อม แต่ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติจะสามารถรับประทานไข่ได้โดยถือว่า ไข่ที่บริโภคนั้นยังไม่ใช่สัตว์ที่จะกลายเป็นตัว
- ผู้ที่กินเจนอกจากจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุน 5 ชนิดแล้ว ตามคติของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานต้องถืออุโบสถศีลด้วย ถ้าไม่ถือศีลอุโบสถก็ไม่นับว่าเป็นการกินเจ แต่จะเรียกว่ากินมังสวิรัติหรือกินผักเฉยๆ เท่านั้น
จากข้อสรุปนี้ทำให้พอจะตั้งข้อสังเกตความสับสนวุ่นวายของการถือรับประทานอาหารมังสวิรัติและอาหารเจว่า “มีการใช้หลักของเจและมังสวิรัติผสมกัน” จนไม่รู้ว่าอันไหนเป็นเจและเป็นมังสวิรัติ
แต่ไม่ว่าจะเป็นการถือรับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจก็ตามความเชื่อเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาที่ดีทั้งสิ้นที่จะ “แสดงเจตนาแห่งความไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นตามหลักศีลข้อที่ 1 ที่ว่าด้วยปาณาติปาตา เวระมณี คือ การงดเว้นในการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นโดยสิ้นเชิง”
แต่ในที่นี้ผู้เขียนขออธิบายเกี่ยวกับหลักของการผิดศีลข้อที่ 1 หรือขอบเขตของศีลให้เข้าใจกันชัดเจนก่อนว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
หลักแง่คิดจากศีลข้อที่ 1
ศีลข้อนี้จะขาดก็ต่อเมื่อพร้อมด้วยองค์ 5 ซึ่งประกอบด้วย
1. สัตว์นั้นมีชีวิต
คำว่า “ปาณ” ในภาษาบาลีหมายความว่า อินทรีย์ที่หายใจมีชีวิตอยู่หมายถึง มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั่วไปทุกชนิด เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่สัตว์เหล่านั้นก็ต้องหายใจเหมือนกันทั้งหมด การหายใจอยู่จึงหมายความถึงการมีชีวิตและการมีชีวิตก็หมายถึงการหายใจ ดังนั้น สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ยังหายใจอยู่จึงไม่ควรไปเบียดเบียนกัน
2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต คือมีจิตรู้อยู่แล้วว่า สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่หากไปทำให้สัตว์ตายทั้งๆ ที่รู้ว่าเขายังมีชีวิตก็ถือว่าผิดศีล
3. มีจิตคิดจะฆ่า คือการแสดงเจตนา คือตั้งใจจะทำให้เขาตายอย่างเต็มที่ก็ได้รับผลบาปไปมาก เช่นฆ่าเพราะอยากฆ่า ฆ่าเพราะต้องการให้ตายด้วยความเคียดแค้น อย่างนี้ก็แสดงว่าเจตนาแรงผลบาปแรงไปแต่เจตนานั้น แต่ถ้าฆ่าเพราะจำเป็นเช่นถือเอาเนื้อสัตว์นั้นมารับประทานเพื่อเลี้ยงชีพก็ถือว่าเป็นการฆ่าที่เจตนาอ่อนกว่ามาก แต่อย่างไรก็ตามย่อมได้รับผลบาปนั้นเช่นเดียวกัน
4. มีความเพียรที่จะฆ่า คือถ้าใช้ความเพียรในการฆ่ามากบาปก็มากตาม ถ้าไม่ต้องใช้ความพยายามมากเช่น แค่ปัดหรือบี้ให้ตายก็บาปลดลงไปตามลำดับ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความเพียรคิดจะฆ่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ย่อมถือว่าผิดศีล
5. สัตว์นั้นตายด้วยความเพียรนั้น คือผลสำเร็จแห่งการฆ่าถ้าสัตว์ตายสิ้นลมหายใจไปโดยสมบูรณ์โดยเจตนาก็ถือว่าศีลขาดไปด้วยเช่นกัน
กรณีอื่นๆ ที่เข้าข่ายกรรม “ปาณาติบาต” ได้แก่
- 1. การทำร้ายร้างกายและทรมานสัตว์
เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติศีลข้อที่ 1 เพื่อมิให้เบียดเบียนชีวิตซึ่งกันและกันการผิดศีลข้อที่ 1 จึงไม่ใช่ควรแค่เว้นจากการฆ่าสัตว์เพียงอย่างเดียว ควรเว้นจากการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันและการทรมานสัตว์ให้สัตว์นั้นลำบากไปด้วย แม้จะเป็นเพียงการทำร้ายร่างกายเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรงดเว้น
ยกตัวอย่างในครอบครัวที่เห็นกันได้ชัดคือ การทำให้สัตว์นั้นลำบาก เช่นการจับไปกักขังโดยไม่ดูแลให้ดีตามสมควรหรือแม้เพียงการเล่นเพื่อให้เกิดความสนุกก็ต้องงดเว้น เช่น การเล่นเผาหางสัตว์โดยใช้น้ำมันราดเอาไว้ที่หางแล้วจุดไฟเผา หรือ การกัด “จิ้งหรีด” ชนแมงด้วงกว่าง ที่เป็นที่นิยมในนักเล่นแมลงแถบภาคเหนือก็จัดอยู่ในข้อนี้ด้วย
และตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนมากก็คือ “การเล่นไก่ชน หรือ วัวชน” เพื่อความสนุกและการเล่นพนันบ้าง การใช้งานสัตว์อย่างหนักเกินไป ล้วนเป็นสิ่งที่เข้าข่ายผิดศีลข้อ 1 ทั้งสิ้น
- การล่าสัตว์
หากคุณผู้อ่านได้ชมภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ไม่ว่าไทยหรือเทศมาบ้างจะพบเห็นว่า การออกล่าสัตว์ของเหล่ากษัตริย์ ขุนนาง ล้วนเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและได้รับการยอมรับแม้ในปัจจุบันก็ยังมีการล่าสัตว์เช่นนี้ปรากฏอยู่อีกจำนวนมากในหลายรูปแบบ เช่น การแข่งขันตกปลา อย่างนี้เป็นต้น
การเล่นสนุกของคน คือการล่าสัตว์เหล่านี้บางคนถือว่าเป็นการฝึกผจญภัยทำให้เกิดความใจกล้า แต่ก็เป็นการผจญภัยที่เอาเปรียบมากเพราะใช้อาวุธและตนเองไปหลบอยู่บนหลังม้า หรือที่กำบังหรือบนเรือ และสัตว์ต่างๆ ที่ถูกล่าแทบจะไม่มีโอกาสต่อสู้ด้วยเลย และสัตว์บางชนิดไม่ได้คุ้นเคยกับความใจดำอำมหิตของมนุษย์ พอสัตว์มองเห็นเข้าก็ไม่รู้ว่ามนุษย์นั้นเป็นเพชฌฆาต กว่าจะรู้สัตว์เหล่านั้นก็ถูกทำให้บาดเจ็บหรือตายไปเสียก่อนแล้ว
การยิงและล่าสัตว์โดยเฉพาะการกระทำเพื่อความสนุกนี้เป็นการแสดงความโหดร้ายยิ่งนัก ถือว่าผิดศีลข้อที่ 1 นี้อย่างรุนแรงว่าด้วย เจตนากรรม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรานึกเปรียบเทียบระหว่างชีวิตเรากับชีวิตสัตว์ผู้อื่นอยู่เสมอว่าต่างก็รักตัวกลัวตายเช่นกัน
- 3. การฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตายหรือการกระทำ “อัตวินิบาตกรรม” นั้นถือเป็นการผิดศีลข้อที่ 1 อย่างยิ่งยวดมิใช่แค่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผู้อื่น การฆ่าตนเองก็ห้ามกระทำเป็นอันขาด พระพุทธเจ้าท่านห้ามมนุษย์ฆ่าตนเอง อย่างแรกเพราะ เป็นการแสดงออกถึงความอับจนพ่ายแพ้ หมดทางแก้ไข เมื่อได้ฆ่าตัวเองก็เป็นการทำลายตน เมื่อได้ทำลายตนแล้วก็เป็นการทำลายซึ่งประโยชน์ทุกอย่างที่เราจะพึงได้ในชีวิต
พระพุทธองค์สอนว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็น “โมฆะกรรม” หรือการกระทำที่เปล่าประโยชน์อย่างที่สุด เพราะตายแล้วก็จบไม่เกิดประโยชน์ หมดโอกาสที่จะพัฒนาหรือแก้ไขความผิดและทำประโยชน์ดีๆ ใดๆ ให้เกิดขึ้นได้ซึ่งการมีชีวิตอยู่เพื่อแก้ปัญหาย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่า
ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงสอนให้สงวนรักษาชีวิตตนไว้ให้ดีตลอดเวลา ห้ามมิให้มอบชีวิตตนให้แก่ใครและไม่ให้ฆ่าตัวเองเช่นเดียวกับการที่ไม่ให้ฆ่าสัตว์อื่นๆ ฉะนั้นเมื่อเรามีสติระวังไม่ให้แพ้ใจตนเองได้ก็จะเป็นการปิดโอกาสในการสร้างกรรมหนักเช่นนี้ให้เกิดขึ้นกับตนเอง
เมื่อเปรียบเทียบหลักแห่งการละเมิดศีลข้อที่ 1 กับการถือรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์แล้วแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์นั้นก็อาจจะมีส่วน “บาป” อยู่บ้าง ถ้าหากว่าเราเป็นผู้สั่งให้ฆ่าสัตว์นั้นเพื่อนำมาทำเป็นอาหาร เพียงแต่ถือเป็นบาปอย่างเบาหรือลักษณะกรรมที่เรียกว่า “กกัตตากรรม” เป็นกรรมที่สักว่าทำคือมีเจตนาอ่อน
การที่มีความเชื่อให้งดเว้นเนื้อสัตว์แล้วหันมาเสพเอาพืชผักนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่ง “จำเป็น”สำหรับนักบวชอย่างพระภิกษุที่ท่านไม่สามารถเลือกที่จะฉันอาหารได้ ต้องถือฉันตามที่ได้รับมาจากการบิณฑบาต
แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่าสำหรับบ้านเราที่นิยมรับประทานเนื้อปนผักนั้น เกือบจะไม่มีความจำเป็นอันใดนักที่จะต้องถือรับประทานแต่อาหารที่เป็นผักเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะถือรับประทานเนื้อก็ได้เพราะว่าอาหารเหล่านั้นก็คงต้องปรุงกันมาทั้งเนื้อและผักอยู่แล้วหากถือกินแต่ผักก็เลือกเอาเนื้อออกไปเสีย
อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งเป็นราชบัณฑิตผู้มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ท่านเขียนแสดงทัศนะเป็นตัวอย่างโดยยกตัวอย่างเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเรื่องการกินเนื้อและผักลงไว้ในหนังสือพระพุทธศาสนา “ทัศนะและวิจารณ์ หน้าที่ 118- 121 ซึ่งผู้เขียนขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้ว่า
“พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือเปล่า ถ้าพุทธศาสนิกชน (ในทะเบียนสำมะโนครัว) จะสนใจอ่านพุทธประวัติ อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพียงเล่มสองเล่ม (ไม่ต้องถึงกับพระไตรปิฎก) ก็จะรู้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคำถามเช่นนี้
พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็น “บรรพชิต” ตามรูปศัพท์แปลว่า “การเว้นโดยสิ้นเชิง” หมายถึงเว้นจากพฤติกรรมทุกอย่างที่เคยทำสมัยยังครองเรือน หันมามาถือเพศผู้ไม่มีเรือนก็ได้ หรือจะแปลว่า “การเดินไปข้างหน้า” หมายถึงใช้ชีวิตเร่ร่อนไม่อยู่ที่ไหนเป็นการถาวร หรือ หมายถึงการปฏิบัติมุ่งสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิงก็ได้
พระองค์นั้นทรงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขออาหารชาวบ้าน บำเพ็ญตนเป็นคนที่อยู่ง่ายกินง่าย เขาให้อะไรกินก็รับสิ่งนั้นเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่ทำประโยชน์แก่สังคม เมื่อเรารู้ถึงวิธีการดำรงชีวิตของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกเช่นนี้แล้ว ก็ตอบได้ทันทีว่า พระพุทธเจ้าทรงเสวยอาหารทั้งที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ และ อาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ คือเป็นทั้งมังสวิรัติและไม่มังสวิรัติ ขึ้นอยู่กับผู้ถวาย ถ้าคนถวายเขากินเนื้อสัตว์เขาคงเอาเนื้อมาถวาย ถ้าเขากินเจเขาก็คงเอาอาหารเจมาถวาย
เมื่อเขาถวายอะไรพระองค์ก็ต้องรับสิ่งนั้น ขณะที่รับก็มิได้มีการจำแนกว่า เนื้อสัตว์หรือไม่เนื้อสัตว์ เจหรือไม่เจ ทรงคิดแต่ว่า “รับอาหาร”
สาเหตุที่เกิดรับประทานมังสวิรัติในพระพุทธศาสนา ก็คือ พระเทวทัตได้ไปยื่น “โนติส” หรือ เงื่อนไข 5 ข้อต่อพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์ก็คือ
- พระต้องอยู่ป่าเป็นวัตร (หมายถึงอยู่ประจำ) ตลอดชีวิต รูปใดอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมีความผิด
- พระต้องเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิตรูปใดรับนิมนต์ไปฉันอาหารหรือรับกิจนิมนต์มีความผิด
- พระต้องใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร (ผ้าห่อศพหรือเศษผ้ามาทำจีวรเอง) ตลอดชีวิตหากรูปใดที่ใช้ผ้าที่มีคนนำมาถวาย มีความผิด
- พระต้องอยู่ตามโคนต้นไม้เป็นกิจวัตรตลอดชีวิตรูปใดอาศัยอยู่ในที่มุงบังมีหลังคามีความผิด
- พระต้อง “ไม่ฉันปลาและเนื้อ” ตลอดชีวิต รูปใดฉันมีความผิด
การที่พระเทวทัตต้องนำเสนอเงื่อนไขที่เคร่งครัดเช่นนี้ก็เป็นเพียง “แผนการ” จะหาคะแนนนิยมหาสมัครพรรคพวกเท่านั้น เพราะในขณะนั้นพระเทวทัตมีพรรคพวกแค่ 4 รูป และรู้อยู่แก่ใจว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ “ทางสายกลาง” อะไรที่ตึงเกินไปย่อชัดต่อพุทธประสงค์
เรื่องนี้พอจะเป็นคำตอบของข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดจึงมีผู้กล่าวว่าลัทธิการกินผักนั้นเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิเทวทัตก็เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้นั่นเอง แล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามคาดของพระเทวทัตจริงๆ ในการจะหาสมัครพรรคพวกเพราะพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธว่า
“อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถืออยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนาจงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนาจึงยินดีในกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนาจงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนาจงยินดีในคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็นเสนาสนะ 8 เดือนนอกฤดูฝน เราอนุญาต ปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์สามส่วนคือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ (สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตนเอง)”
ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ 7 ข้อ 384 หน้า 185
และที่สำคัญพระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสเอาไว้ชัดเจนในสูตรอีกสูตรหนึ่งชื่อ “ชีวกสูตร” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 ข้อ 56-61 หน้า 47 – 51 ว่า
หมอชีวกโกมารภัจ ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ได้ยินคนเขาพูดว่า คนทั้งหลายฆ่าสัตว์เจาะจงเพื่อพระสมณโคดมพระองค์ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่ทำเฉพาะตนนั้นมีความจริงเพียงใด คนที่พูดนั้นพูดตรงกับความจริงหรือว่ากล่าวตู่พระองค์ด้วยเรื่องไม่จริง
พระองค์ก็ตรัสตอบว่า หากเขาพูดเช่นนั้น แสดงว่าเขาพูดไม่จริงกล่าวหาด้วยเรื่องที่ไม่มีมูลและตรัสต่อไปว่า เนื้อที่ไม่ควรบริโภคคือ เนื้อที่ตนได้เห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ส่วนเนื้อที่บริโภคคือเนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่เคยได้ยิน เนื้อที่ตนไม่รังเกียจ หมายความว่า ถ้าพระภิกษุได้เห็นกับตา หรือได้ยินกับหู ว่าอาหารที่เขาจะนำมาถวายเขาฆ่าแกงให้ท่านโดยเฉพาะหรือสงสัยว่าเขาฆ่าแกงให้ ก็ “ไม่ควรฉัน” ถ้าไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้ก็ฉันได้
สุดท้ายทรงสรุปว่า ใครก็ตามที่ฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ 5 สถานคือ
- สั่งให้นำสัตว์ตัวนี้มา เท่ากับว่าเป็นการชักนำให้คนอื่นร่วมทำบาปด้วย นี่บาปสถานหนึ่ง
- สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่า ถูกลากถูลู่ถูกังมาได้รับความเจ็บปวดเป็นอันมาก นี่บาปสถานที่สอง
- ออกคำสั่งให้เขาฆ่า ตัวเองก็บาป คนฆ่าก็บาป นี่บาปสถานที่สาม
- สัตว์ที่กำลังถูกฆ่าได้รับความทุกขเวทนาสาหัสจนสิ้นชีพ นี่บาปสถานที่สี่
- ทำให้คนอื่นเขาหาช่องว่าพระตถาคตและสาวกด้วยเรื่องเนื้อสัตว์ที่ไม่ควร นี่บาปสถานที่ห้า
ด้วยเหตุนี้หากจะกล่าวให้ถูกก็คือ พระองค์เสวยอาหารเพียงเพื่อให้ยังชีพยืนยาวต่อไป เพื่อที่จะให้มีกำลังในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก มิได้มามัวจำแนกว่านี่คือเนื้อสัตว์ นี่ไม่ใช่เนื้อสัตว์เพราะไม่ว่าพระพุทธองค์จะเสวยอะไรก็ตาม ทรงเสวยด้วยอาการไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ประเด็นที่ควรใส่ใจก็คือ “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเรากินอะไร แต่อยู่ที่กินด้วยอาการอย่างไร”
และพูดถึงเรื่องการกินเนื้อสัตว์ไม่กินเนื้อสัตว์นี้ พระอริยสงฆ์อย่างหลวงพ่อ “เทียน จิตตสุโภ” ซึ่งท่านเป็นนักปฏิบัติที่มีลูกศิษย์ลูกหามาก วันหนึ่งก็มีสาวกของนักมังสวิรัติและกินเจไปกล่าวต่อว่าข้อวัตรปฏิบัติของท่าน ท่ามกลางประชาชนที่กำลังนั่งฟังเทศน์อยู่ว่า
“หลวงพ่อคุยว่าเป็นผู้ปฏิบัติ แต่ทำไมยังกินเนื้อสัตว์อยู่ อย่างนี้ไม่มีทางบรรลุหรอก แค่เมตตาขั้นพื้นฐานยังทำไม่ได้”
หลวงพ่อเทียนท่านตอบอย่างสงบแต่มีความแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า
“ โยมเอ๋ย การจะบรรลุหรือไม่ ไม่ขึ้นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินดอก คนลงจะไม่ถึงคราวบรรลุแล้วอย่าว่าแต่ไม่กินเนื้อสัตว์เลย ไม่กินข้าวมันก็ไม่บรรลุ ดูอย่างพระพุทธเจ้าซิ ก่อนจะตรัสรู้ อดข้าวแทบสิ้นพระชนม์ก็ยังไม่บรรลุ ต้องหันมาเสวยข้าวให้มีเรี่ยวมีแรงจึงจะบรรลุ”
เมื่อทรรศนะเรื่องการกินเนื้อสัตว์และการกินผักในคติของพระพุทธศาสนาและตามทัศนะของเหล่าครูบาอาจารย์คนสำคัญที่กล่าวมา และสามารถอ้างเปรียบเทียบได้ตามพระไตรปิฎก เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า การรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์หรือการกินมังสวิรัติดูค่อนข้างจะมีความเสมอภาคและเป็นกลางมากก็เพราะ พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายๆ ท่านได้พิจารณาดูถึงเจตนาแห่งการกระทำเป็นหลักก็ตาม
แต่เหตุใดจึงมีผู้ถือไม่กินเนื้อสัตว์คือพยายามถือรับประทานอาหารมังสวิรัติและอาหารเจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
เหตุที่คนทั่วไปยังพยายามไม่ทานเนื้อสัตว์นั้นไม่ยาก เพราะพระสงฆ์ทำอาหารเองไม่ได้ต้องรับอาหารตามที่คนทำถวาย จึงไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ยินไม่รังเกียจอย่างที่พระพุทธเจ่้าตรัสอนุญาตไว้ แต่คนทั่วไปต้องหาและทำอาหารกินเองจึงรู้จึงเห็นจึงได้ยินจึงรังเกียจ เลยไม่ต้องการจะทานเนื้อสัตว์ไงคะ เพราะถ้าได้รู้ได้เห็นได้ยินได้รังเกียจพระพุทธเจ้าก็ไม่อนุญาตไงคะ